มีเสียงบ่นเรื่องราคาหมูแพง จนร้านอาหารต่างๆพากันปรับราคา ซึ่งเรื่องรัฐบาลก็สดับรับฟังและเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
โดยรัฐบาลกำหนดมาตรการออกมาแก้ไขปัญหา จากวงหารือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า ห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 ถึง วันที่ 5 เมษายน 2565 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ
ช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่อโรคระบาดต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น
และเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน
แต่ประเด็นที่ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาสินค้าราคาแพง เนื่องจากสิ้นเดือนมกราคมนี้ ครบกำหนดสิ้นสุดมาตรการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม LPG ที่ระดับ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยกระทรวงพลังงานเตรียมปรับราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จะปรับขึ้นเป็นแบบขั้นบันได
ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล กระทรวงพลังงานยืนยันจะตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ล่าสุดกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเตรียมกู้มาเสริมสภาพคล่อง 20,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับกระทรวงพลังงานให้ดูแลทิศทางราคาพลังงานขาขึ้น โดยขอให้กระทรวงพลังงานบริหารจัดการค่าไฟฟ้าที่กระทบกับประชาชน หรือต้นทุนต่างๆ รวมทั้งดูแลไม่ให้มีการขาดแคลนพลังงาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้ทิศทางอย่างนี้แล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมป้องกันและรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เพิ่มปัญหาค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นทุกขณะ ภาระจากปัญหาปากท้องจะซ้ำเติมให้เป็นฟางเส้นสุดท้าย