นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 5 แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า อาจมีผู้ติดเชื้อสูงสุดถึงวันละ 30,000 ราย โดยเบื้องต้นนั้นกรมการแพทย์จะมีเตียงเพียงพอในการรักษา ขณะเดียวกันแนวทางการรักษาผู้ป่วยหลังจากนี้ จะเน้นที่การแยกกักที่บ้าน และศูนย์พักคอยในชุมชนเป็นลำดับแรก แต่หากมีอาการหนักจะส่งต่อรักษายังโรงพยาบาลที่มีเตียงรองรับ
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับการเตือนภัย จากระดับ 3 เป็นระดับ4 พร้อมคำแนะนำมาตรการต่างๆ และอาจเพิ่มมาตรการในพื้นที่เสี่ยง ทั้งขอให้มีการเวิร์กฟรอมโฮม ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด
อย่างไรก็ตาม จากการที่มีบรรดาคนดังประกาศว่าติดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพของการระบาดใหญ่และความวิตกกังวลของพี่น้องประชาชนหวนกลับมาอีกครั้ง แม้ก่อนหน้านี้จะมีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ และคาดหวังว่า โอไมครอนจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของโควิด เมื่อมีการระบาดใหญ่แล้วจะยุติลงในที่สุด
“หลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนครั้งใหญ่นี้ เชื่อว่าทุกคนไม่ว่าจะเคยฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดิมมาก่อน จะได้รับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนไม่ช้าก็เร็ว เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หวังว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คงจะจบลงสักทีอนาคตเราคงไม่ต้องมาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4 กันอีก เพราะเราทุกคนได้รับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติชนิดตัวเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีกว่าวัคซีนทุกชนิดที่มีในปัจจุบัน อนาคตของบริษัทผลิตวัคซีนต่อต้านไวรัสโควิด-19 คงไม่รุ่งเหมือนช่วงที่ผ่านมา” นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวในตอนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 โอไมครอน หยุดยาวช่วงปีใหม่ และการติดต่อง่าย” ตอนหนึ่งระบุว่า “โอไมครอน เรารู้แล้วว่าติดต่อง่าย ประกอบกับ การสนุกสนานรื่นเริง และหยุดยาวช่วงปีใหม่ ดังนั้น ผลที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงต่อจากนี้ไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ผมอยู่กับห้องปฏิบัติการ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 - 3 วันนี้ รู้แล้วว่าตัวเลขและอัตราการตรวจพบ โควิด- 19 เพิ่มขึ้นมาก
ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ นับจากนี้ต่อไป จะเริ่มพุ่งขึ้นสูงอย่างแน่นอน จะขึ้นสูงแค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ต่อจากนี้ ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันลดจำนวนตัวเลข ให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้
อัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วย จะน้อยกว่า ช่วงการระบาดของเดลตา
สิ่งที่สำคัญขณะนี้ จะต้องเร่งกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้มากที่สุดและอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่เรารู้กันดีว่าอายุเกิน 60 และหรือ มีโรคเรื้อรัง 8 โรค เพื่อลดความรุนแรงให้ได้”
ขณะเดียวกันมีการสื่อสารจากหน่วยงานต่างๆ ถึงแนวทางในการรักษาผู้ป่วยแบบแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยกรมการแพทย์ได้ออกประกาศแนวแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565 ตอนหนึ่งระบุว่า ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 พบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron แพร่ระบาดในวงกว้าง พบว่าอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้
แม้จะย้ำกันหลายครั้ง สำหรับสถานการณ์โควิดว่าไม่ควรตระหนกแต่ต้องตระหนัก หากแต่ภาครัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะไม่มีภาพเผาศพโควิดจนเตาเผาพัง และคนป่วยล้นโรงพยาบาลกลับมาอีกครั้ง