วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ตรงกับวันที่ 8 มกราคม หลายภาคส่วนเตรียมจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวเพื่อให้เห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก เพื่อการพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ให้เจริญเติบโตอย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนได้เตรียมจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้ได้เข้าร่วมเป็นประจำทุกปี แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามมาตรการสาธารณสุข ขณะที่หลายหน่วยงานเช่น กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเลื่อนการจัดกิจกรรมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ที่ส่วนกลาง และเลื่อนการจัดกิจกรรมการมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรแก่เด็กและเยาวชนดีเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ทั่วประเทศ ออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม แม้หลายภาคส่วนจะพยายามรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของเด็ก แต่ยังมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่มีปัญหาสิทธิเด็กถูกละเมิด ด้วยการกระทำรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในช่วงวันหยุดยาวฉลองเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีข่าวเศร้าสลดของสังคมไทย เรื่องราวของเด็กชายวัยเพียง6 ปีรายหนึ่งที่จ.ตราด เขาไม่มีโอกาสได้อยู่ร่วมฉลองวันเด็กในปีนี้ เนื่องจากถูกพ่อเลี้ยงทำร้ายร่างกายจนสลบ แล้วนำร่างไปไว้ในรถยนต์ก่อนพบเป็นศพเสียชีวิตในเวลาต่อมา ยังมีหลายเหตุการณ์ที่เด็กต้องตกเป็นเหยื่อ โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ พยาบาล (สบ5) กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ ระหว่างปี 2560-2562 มีผู้เข้ารับการช่วยเหลือรวม 1,926 คน แยกเป็นรายปี ดังนี้ ปี 2560 ผู้ป่วยทั้งหมด 659 ราย เป็นหญิง 630 ราย ชาย 29 ราย ปี 2561 ผู้ป่วยทั้งหมด 643 ราย เป็นหญิง 590 ราย ชาย 53 ราย ปี 2562 ผู้ป่วยทั้งหมด 624 ราย เป็นหญิง 567 ราย ชาย 57 ราย ทั้งนี้ กลุ่มเด็กส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำจะอยู่ในช่วงอายุ 0-15 ปี โดยเด็กผู้หญิงมักถูกกระทำรุนแรงมากกว่าเด็กผู้ชาย รูปแบบการใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงทางเพศ และการทำร้ายร่างกายและจิตใจทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลศูนย์พึ่งได้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ห้วงเวลา 16 ปี ระหว่างปี 2547-2563 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับการช่วยเหลือ 1,307 ราย และมีแนวโน้มพบการกระทำรุนแรงเด็กเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้มีช่องทางช่วยเหลือมีหลายช่องทางฉุกเฉินผ่านสายด่วน อาทิ 191 , 1599, 1300 สายด่วน พม. หรือเพจ Because We Care อย่างไรก็ตามจากข้อมูลข้างต้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมไทยจะต้องสร้างกลไกของเครือข่ายสังคมให้ไวต่อสัญญาณความผิดปกติที่จะส่อไปในทางการกระทำรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันก่อนที่จะเกิดความสูญเสียที่น่าเศร้า