รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “มนุษย์เด็ก” เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเจริญ และบ้านเมืองก้าวหน้า ในมุมของรัฐบาลจึงตระหนักว่าการพัฒนาเด็กให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ ช่วงปฐมวัยของชีวิตเด็กนั้นมีศักยภาพในการพัฒนาทั้งร่างกาย อารมณ์ การเรียนรู้ และความคิด สำหรับวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2565 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 ม.ค. 65 นายกฯประยุทธ์ ก็ได้มอบคำขวัญให้กับเด็ก ๆ เยาวชนไทยตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้บริหารประเทศที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2499 เรื่อยมาเพื่อเป็นข้อคิดคติเตือนใจกับอนาคตของชาติคือ ‘รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม’ “เด็กไทย” ปีนี้ ก็คือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือบุคคลที่เกิดหลังปี 2547 เป็นต้นไป ซึ่งครอบคลุม Gen Z (เกิดหลังปี 2543-2553) และ Gen Alpha (เกิดหลังปี 2553 เป็นต้นไป) จำนวนเด็กไทยล่าสุดปี 2563 ตามทะเบียนราษฎรมีอยู่ราว ๆ 13.91 ล้านคน โดยรัฐบาลไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องดำเนินการให้เด็กๆ เยาวชนไทยเหล่านี้ทุกคนในประเทศไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันบนหลักการที่ไม่เลือกปฏิบัติและถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้งตามสิทธิของเด็ก 4 ด้าน ประกอบด้วยสิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม แม้ว่าตั้งแต่ปี 2563 จำนวนการเกิดของเด็กไทยลดต่ำกว่า 600,000 คน เป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เพราะค่านิยมเปลี่ยนแปลงคนหนุ่มสาวชอบอยู่เป็นโสด แต่งงานช้า ชะลอการมีลูก มีลูกน้อยลง หรือไม่ต้องการมีลูกเพราะกังวลเรื่องคนช่วยเลี้ยง กังวลเรื่องความมั่นคงในอาชีพการงาน อย่างไรก็ดีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลานานเกินกว่า 2 ปี และคนหนุ่มสาวที่ไม่โสดต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานที่บ้าน อาจจะส่งผลให้ปี 2565 นี้มีประชากรวัยเด็กเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ ยุคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กไทยไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นพฤติการเรียน การเล่น การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน ฯลฯ เพราะเด็กต้องถูกปิดกั้นในการเรียนรู้และการเข้าสังคม แม้ว่าพฤติกรรมเด็กยุคโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะเด็กใช้เวลาอยู่กับบ้านนาน ติดหน้าจอ เล่นมือถือ เล่นเกมมากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย และต้องฝึกสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่ง ในขณะที่การเรียนรู้เชิงวิชาการของเด็กถดถอยหรือด้อยลงเพราะข้อจำกัดใน การเรียนรู้แบบออนไลน์ แต่เด็กก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาตนเองโดยเฉพาะเรื่อง Soft skills ที่จะทำให้เด็กทำงานร่วมกับผู้อื่นในวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นนานาชาติมากขึ้น และเด็กยุคใหม่ก็ต้องฉลาด ตามทันโลก และมีความคิดเชิงนวัตกรรม ในส่วนของพ่อแม่นั้น ไม่ว่าจะรวยหรือจนอย่างไรต่างก็รักและต้องการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข แต่การเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันยากมาก เพราะสภาพแวดล้อม สังคม เทคโนโลยี และคนที่อยู่รอบตัวเด็กเปลี่ยนแปลงหมด ยิ่งถ้าหากคนที่อยู่กับเด็กแต่ไม่มีความเข้าใจเด็กก็จะทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย และรู้สึกว่าไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งเด็กแต่ละคนและแต่ละวัยจะมีความแตกต่างกัน การจะสร้างเด็กคนหนึ่ง ๆ ให้ได้ดังใจพ่อแม่และตอบโจทย์สังคมต้องผ่านกระบวนการมากมายและเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลก็จริง แต่ถ้าทำสำเร็จก็ยิ่งกว่า ‘สุดคุ้ม’ เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองของประชาชนที่มีต่อ “เด็กไทย 2022” สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงสำรวจ ความคิดเห็นของบุคคลในหลากหลายเพศสภาพ อายุ อาชีพ การศึกษา และรายได้ทั่วประเทศ คือ 1. ความคิดเห็นต่อ “เด็กไทย ณ วันนี้” 2. จุดเด่น” ของเด็กไทย ณ วันนี้ 3. สิ่งที่เด็กไทย ณ วันนี้ ควรพัฒนาเพิ่มเติม /ทักษะเพิ่มเติม 4. สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา “เด็กไทย ณ วันนี้” 5. สิ่งที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ “เด็กไทย ณ วันนี้” ผลโพลจะออกมาเช่นไร? จะตรงใจหรือไม่ตรงใจของท่านหรือไม่อย่างไร? อย่าลืม...ติดตามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ยูทูบ https://www.youtube.com/channel/UCWCNsYcEBaTmHum5ymx8oKg ครับ... สวัสดีปีใหม่ 2565