ทีมข่าวคิดลึก
คดีความที่เกี่ยวข้องโยงใยกับ "ยิ่งลักษณ์ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง "คดีจำนำข้าว" ยิ่งงวดเข้ามามากเท่าใด ยิ่งทำให้มองเห็นภาพการต่อสู้ระหว่าง "ขั้วอำนาจใหม่" อย่าง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. กับ "ขั้วอำนาจเก่า" ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ โดยมีน้องสาวอย่างยิ่งลักษณ์เป็นเหมือนตัวประกันมากเท่านั้น !
แน่นอนว่าการเดินหน้าทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งคดีจำนำข้าวในทางอาญา ซึ่งเวลานี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่คดีทางแพ่งที่มีเรื่องของตัวเลขความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวดูเหมือนจะเข้มข้นมากขึ้น นั่นหมายความว่า เวลานี้พรรคเพื่อไทยกำลังเดินหน้าในลักษณะสองขาคู่ขนานไปพร้อมๆกัน ทางหนึ่งคือการต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ให้กับพรรคในการเลือกตั้งรอบหน้า และอีกทางหนึ่งคือการต่อสู้เพื่อหาทางช่วยเหลือยิ่งลักษณ์
เพราะต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคเพื่อไทยจะมียิ่งลักษณ์ถือธงนำหรือไม่ก็ตาม แต่เธอคือสัญลักษณ์ที่สำคัญของพรรคและเป็นน้องสาวทักษิณ เจ้าของพรรคตัวจริง !และเมื่อมองกลับมายัง พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้ง คสช. เอง ที่เพิ่งผ่านวาระการแถลงผลงานครบรอบ 2 ปี รัฐบาลมาหมาดๆ กลับยังไม่มีอะไรโดดเด่นไปกว่า "คะแนนนิยม" ของ พล.อ.ประยุทธ์เองที่เป็นตัวฉุดเรตติ้ง ประคองสถานการณ์ของรัฐบาลในภาพรวมเอาไว้
จากนี้กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 3 หลังการรัฐประหารของ คสช. มีเวลาเหลืออีกเพียงหนึ่งปีเศษ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ว่าที่สุดแล้ว คสช. จะเดินหน้าตามโรดแมปคือการคืนประชาธิปไตยให้กับสังคมพร้อมส่งมอบงานให้กับ "รัฐบาลใหม่" ที่จะมาจากการเลือกตั้ง
ข้อเสนอแนะต่างๆ จากฝ่ายการเมืองไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะดังมากพอหรือไม่ในโหมดของการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายเพื่อที่ กรธ. จะนำไปพิจารณาในการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นในความเป็นจริงแล้ว ลึกๆ นักการเมืองหลายต่อหลายคนแทบไม่ได้คาดหวังว่าความเห็นของพวกเขาจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
เนื่องจากตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อเสนอจากแม่น้ำแต่ละสายในมือคสช. ทั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งข้อเสนอจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นผลดีต่อนักกาเมืองแต่อย่างใด
แต่ถึงกระนั้นเมื่อสนามเลือกตั้งคือเป้าหมายใหญ่เป้าหมายเดียวที่นักการเมืองพอจะมองเห็น "ทางรอด" พ้นไปจากอำนาจของ คสช. การยอมรับและเตรียมตัวเพื่อลงสนามด้วยความพร้อมมากที่สุดในภาวะที่ถูกตีกรอบมากที่สุด น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
สำหรับ คสช. เองมองเห็นถึงความต้องการของนักการเมืองเช่นกันว่าต้องการเลือกตั้งมากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่ยอมผ่าน "ประชามติ" ทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ทั้งที่มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยต่างไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ตาม
จนถึงวันนี้คสช.รู้ดีว่าตราบใดที่ยังชูธงการเดินหน้าตามโรดแมป คือสิ่งที่จะสร้างความสงบ สยบทุกความวุ่นวายที่จะมาจากในและนอกประเทศได้อย่างชัดเจน ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ วันนี้ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
หากย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับเมื่อคราวที่เข้ามาบริหารประเทศ หลังการรัฐประหารใหม่ๆ เมื่อสองปีที่ผ่านมา