แสงไทย เค้าภูไทย
แม้โอไมครอนจะยังไม่แทนที่เดลตาเต็มตัว แต่ก็มีความหวังใหม่ว่า มันจะกลายเป็นวัคซีนธรรมชาติ กระตุ้นการสร้างภูมิ สู้กับไวรัสทุกสายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีน และจะเป็นจุดจบของการระบาดของโควิด-19
การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและติดง่ายของโอไมครอน นำไปสู่ความกังวลว่า มันจะทำให้ผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยล้มตายกันมากมายเหมือนกับที่สายพันธุ์เดลตาก่อเกิดอยู่
แม้จะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า มีผู้ป่วยรุนแรงหรือตายเพราะติดเชื้อโอไมครอน แต่ก็วางใจไม่ได้
ทำให้งานฉลองปีใหม่ “เคานต์ดาวน์”ตามสถานที่ต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะที่จัตุรัสไทม์สแควร์ของนิวยอร์ก ต้องงดไปโดยปริยาย
แต่ก็ยังไม่เข้มงวดเท่าจีน ที่นอกจากจะห้ามจัดงานเฉลิมฉลองใดๆแล้ว ยังห้ามประชาชนในเขตแพร่ระบาดออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หรือให้ออกได้เป็นช่วงๆ โดยรัฐจะส่งเสบียงอาหารไปให้ถึงบ้าน
อังกฤษล่าสุดมีรายงานว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเสียชีวิตกว่า 30 คน นอนโรงพยาบาลกว่า 300 คน
แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากติดเชื้อโอไมครอนเดี่ยวๆ เหตุจากเดลตายังคงระบาดอยู่
แต่จากการศึกษาวิจัยโอไมครอนล่าสุด พบว่า พิษภัยของมันไม่สู้ร้ายแรงนัก
งานศึกษาวิจัยก่อนตีพิมพ์ในวารสาร bioRxiv* ระบุว่าเกิดจากเหตุที่หนามโปรตีนของมันด้อยประสิทธิผลในการจับกับตัวรับเซลล์มนุษย์ ทำให้มันไม่สามารถแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ต่อเซลล์ (cell-cell fusion) ได้ง่ายเหมือนกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้
การกลายพันธุ์ของโอไมครอนเกิดมากที่สุดที่หนามโปรตีน (Spike Protein) คือกว่า 30 ตำแหน่ง ทำให้มันกลายเป็นสายพันธุ์ด้อย ไม่สามารถสร้างความเจ็บป่วยรุนแรงได้ เท่ากับสายพันธุ์ที่ระบาดก่อนหน้านี้คือ Alpha ,Beta, Gamma และหลังสุด Delta
ทีมนักวิจัยพันธุศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งสมมติฐานว่า การกลายพันธุ์ RNA มีอัตราสูงก็จริง แต่เพราะกลายพันธุ์มาก และเร็ว จึงเกิดความผิดพลาด จนยิ่งกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ยิ่งด้อยลง จนถึงกับทำให้โควิด-19 สูญพันธุ์ไปในที่สุด
สอดคล้องกับที่นักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมของอังกฤษที่คิดค้นแอสตราเซเนกาบอกว่าโควิดมันจะไม่รุนแรงมากไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากถ้ามันกลายพันธุ์มากเกินไปมันจะจับกับเซลล์มนุษย์ไม่ได้
อีกด้านหนึ่ง การที่มันหลบหลีกภูมิคุ้มกันและภูมิต้าน ( antibody) อันเกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนได้
มันจึงเป็นเสมือนวัคซีนธรรมชาติชนิดเชื้อเป็น ไปกระตุ้นการสร้าง แอนติบอดีอีกทางหนึ่ง
เหตุนี้ มันจึงได้แค่ติดอยู่ในระบบหายใจส่วนต้น ไม่สามารถลงไปสู่ปอด( lung organoids)หรือเซลล์เนื้อเยื่ออื่นๆได้ หรือถ้าลงไปสู่ระบบหายใจส่วนล่างได้ ก็ไม่เกิดอาการรุนแรง
ผู้ติดเชื้อมีอาการคล้ายเป็นหวัดธรรมดา คือมีน้ำมูก ไอ จาม เหนื่อยเพลีย เมื่อยตัว ผู้มีร่างกายแข็งแรงสามารถหายเองได้ หรือบางคนติดเชื้อแล้วไม่เกิดอาการ
โอกาสที่เชื้อจะลามลงปอดมีน้อยมาก หรือถ้าลงปอด ก็จะทำความเสียหายต่อเซลล์เนื้อเยื่อปอดไม่มาก ไม่เป็นพังผืดเหมือนกับผู้ติดเชื้อเดลตา เมื่อหายแล้ว เนื้อเยื่อปอดที่ถูกทำลายจะฟื้นคืนสภาพได้ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน
หากเดลตาถูกโอไมครอนแทนที่เต็มตัว ในไม่ช้า มันก็จะเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ประจำถิ่น ประจำฤดู อย่างที่มีอยู่
แต่ก็มิใช่ว่ามันจะสูญพันธุ์ไปเสียทีเดียว อาจจะมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นจากรากเหง้า SARS-COV-2 เหมือนเมื่อ 8 ปีก่อนก็ได้