ทวี สุรฤทธิกุล
เมื่อผู้มีอำนาจยังเป็นคนกลุ่มเดิม ๆ จะเปลี่ยนปีกี่ครั้ง การเมืองไทยก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม
ภายใต้ทฤษฎี “ความไม่เอาไหนของบางสถาบัน” ที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อธิบายให้คนในสมัยของท่านฟัง ทำให้ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่า แม้ในสมัยนี้การเมืองไทยก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น คือบางสถาบันก็ยังไม่เป็นที่พึ่งของคนไทยได้ โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ พรรคการเมือง รัฐสภา และนักการเมือง ทำให้สถาบันทางการเมืองในระบอบเก่ายังคงมีความแข็งแกร่ง คือพระมหากษัตริย์กับทหาร และยิ่งทั้งสองสถาบันโบราณนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งยังได้โอกาสทำงานสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งจะทำให้ทั้งสองสถาบันนี้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น จึงเป็นความพยายามของฝ่ายที่เรียกว่า “พวกประชาธิปไตย” ที่อยากจะทำลายความเข้มแข็งของทั้งสองสถาบันดังกล่าว
ระบบรัฐสภาของเราล้มเหลวมาตั้งแต่แรกที่คณะราษฎรต้องการควบคุมอำนาจไว้ทั้งหมด ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้นแล้ว แต่แล้วคณะราษฎรก็ขัดแย้งกันเอง ทำให้คณะราษฎรฝ่ายทหารสามารถขับไล่คณะราษฎรฝ่ายพลเรือนออกไปได้ ภายหลังกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2490 แล้วทหารก็กระชับอำนาจการเมืองของฝ่ายตนเข้าด้วยกันกับพระมหากษัตริย์ โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ได้แสดงนัยยะนั้นไว้ภายใต้ข้อบัญญัติที่ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” แล้วมีปรากฏนัยยะนี้อย่างเด่นชัดเด็ดขาดในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทหารชูคำขวัญไว้ทั่วทุกค่ายทหารว่า “เทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ยิ่งชีพ” ในขณะที่ระบบราชการก็ถูกทหารเข้าควบคุม รวมถึงระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ แม้แต่ในยุคหลังที่นักการเมืองขึ้นมามีอำนาจ ก็ต้องยอมสยบให้ทหารอยู่เสมอ เป็นต้นว่า จะไม่ไปแตะต้องงบทหาร และการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร เพราะถ้าไปแตะต้องก็จะต้องมีอันเป็นไป รวมถึงตัวรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก็ต้องเป็นทหารหรือคนที่ทหารยอมรับ จึงจะทำให้รัฐบาลนั้นมีเสถียรภาพไม่มีการ “ตบเท้า” เข้ามาข่มขู่รัฐบาล
รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อยู่ในสภาพที่ “ทหารคุมการเมือง” เช่นกัน ตั้งแต่ที่บรรดาเนติบริกรและทาสบริกรได้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่ทหารต้องการ ถึงขั้นที่ผู้ร่างบางคนที่ทำไม่ถูกใจทหารต้องร้องออกมาว่า “เขาต้องการอยู่ยาว” ตามมาด้วยการวางหมากไว้ในพรรคการเมือง ที่จะต้องยอมสยบแก่ทหารเท่านั้น จนถึงขั้นพรรคเก่าแก่บางพรรคต้องยอมคายอุดมการณ์แล้วร่วมและเล็มอำนาจที่ทหารโปรยหว่านให้ รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรคที่ยอมตัวเข้าไปร่วมสังฆกรรมด้วย เพียงเพราะมีความเชื่อว่าทหารจะค้ำจุนราชบัลลังก์ให้คงมั่น และจะสามารถรักษาความสงบสุขในบ้านเมืองไว้ได้แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ในขณะเดียวกันฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยก็ทำการต่อต้านรัฐบาล เหมือนกับว่าไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์ หรือเล่าเรียนมาในทางการเมืองแบบ “ผิดตำรา” เพราะถ้าหากพวกเขาได้เรียนประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง เช่น คณะราษฎรไม่ได้สร้างประชาธิปไตย หรือพระมหากษัตริย์ที่ดีมีหลายพระองค์ พวกเขาก็จะต้องไม่เชิดชูคณะราษฎรถึงปานนั้นและคงไม่ย่ำยีกษัตริย์อย่างเมามันแบบนี้ ในทำนองเดียวกัน หากพวกเขาแม่นยำในทฤษฎีการเมืองไทยที่ว่า ทหารกับพระมหากษัตริย์นั้นจะแยกจากกันได้ พวกเขาก็คงจะไม่หลับหูหลับด่าก่นด่าทั้งสองสถาบันอย่างที่ทำอยู่นี้ ซึ่งพวกเขาจะไม่มีวันพบประชาธิปไตยตามแบบที่พวกเขาต้องการนั้นได้เลย
ประเทศไทยในปี 2565 น่าจะมีการเลือกตั้งอย่างน้อยก็ในกรุงเทพมหานคร ที่แน่นอนว่าจะเป็นการวัดศรัทธาความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ว่าจะยังคงมีเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งกูรูบางคนบอกว่าพลเอกประยุทธ์อยู่ในช่วงขาลง แต่ถ้าจับท่าทีของพลเอกประยุทธ์ก็จะเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ดูจะมีความมั่นใจในความแข็งแรงในตัวเขามาก ถึงกลับมีการปล่อยข่าวลือว่าเขาจะอยู่ต่อไปอีกหลายปี ซึ่งถ้าจับประเด็นนี้ตามทฤษฎี “ทหารกับพระมหากษัตริย์แยกกันไม่ได้” แล้ว ก็อาจจะไม่ได้เป็นจริงเสมอไป
ประวัติศาสตร์มีว่า ในช่วง พ.ศ. 2490 - 2500 ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับมามีอำนาจในรอบที่สอง ได้พยายามอย่างมากที่จะญาติดีกับพระมหากษัตริย์ แต่ความพยายามนั้นก็มาสำเร็จในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครั้นในยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่พยายามจะสร้างสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพระมหากษัตริย์ให้แนบแน่น ก็พ่ายแพ้ให้แก่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีทหารยังเติร์กสนับสนุน รวมถึงกรณีของการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีที่คณะ รสช.สนับสนุน จากพลเรือเอกสมบุญ ระหงส์ มาเป็นนายอนันต์ ปันยารชุน ใน พ.ศ. 2535 ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปีนั้น ก็เป็นเรื่องลึกลับที่หลายคนพอรู้ รวมถึงข่าวการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเป็นระยะในช่วงที่เปลี่ยนรัชกาลใหม่ ๆ เมื่อ พ.ศ. 2560 นั่นก็แสดงว่า ทหารกับพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องคงอยู่ไปด้วยกัน แต่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในแบบเดียวกันไปทุกสถานการณ์
อนึ่ง ทหารก็เป็นองค์กรราชการแบบหนึ่ง ย่อมมีการโยกย้ายถ่ายเทเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนคนขึ้นมาเป็นผู้นำอยู่ตลอด และอำนาจที่ผู้นำทหารได้ก็เป็นอำนาจพิเศษมาโดยตลอด คือมาพร้อมกับอำนาจที่เอกสิทธิ์ในการปกป้องสถาบันต่าง ๆ ของชาติ ทำให้ทหารชอบใช้อำนาจนั้นเข้ายึดผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยอ้างว่าเป็นเรื่อของ “ความั่นคงแห่งชาติ” นั้นมาโดยตลอดเช่นกัน แต่ด้วยระบบการโยกย้ายถ่ายเทที่ส่งต่อกันได้อย่างราบรื่น ทำให้ทหารดูเหมือนว่าจะมีเสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่นมาก รวมทั้งการให้การศึกษาทางการเมืองกับทหารก็ส่งผลมากเช่นกัน อย่างการเกิดขึ้นของทหารประชาธิปไตยในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในกองทัพเป็นอย่างมากในช่วงเวลาหลายปีต่อมา ดังเช่นที่มีข้อมูลในเวลานี้ว่า ทหารที่เป็นคนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และวายก็กำลังมีความคิดที่เป็นสากลมากขึ้น และถ้าหากทหารเหล่านี้เติบโตขึ้นมาในตำแหน่งควบคุมกำลังต่าง ๆ ของกองทัพ ก็อาจจะส่งผลต่อการนำกองทัพไปสู่ทิศทางใหม่ แตกต่างไปจากทหารในทุกวันนี้ ที่ถูกนำด้วย “The man of Lamancha” ที่เดินง่อกแง่กโงนเงน(แต่กระนั้นก็ได้เป็น “บุคคลแห่งปี” ของบางสำนักโพลล์) เคียงคู่กันกับน้อง ๆ อีก 2 ป. ที่ “ความตาย” เท่านั้นจะพรากพวกเขาได้
ขอให้ท่านผู้อ่านสยามรัฐจงโชคดีในปีใหม่นี้ และอยู่ไปนาน ๆ พอที่จะได้ทันเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นเทอญ