แสงไทย เค้าภูไทย โรคผวาโหวตโนลุกลาม กาแฟสมุนไพรยี่ห้อหนึ่งทำเอาผู้ว่าฯศรีสะเกษผวา สั่งเก็บธงกระดาษขาวติดปลายไม้ไผที่มีข้อความว่า “กาโน” โปรโมทการขายกาแฟชื่อเดียวกันนี้ ขณะที่พิจิตร ลิงฝูงใหญ่รำคาญป้ายปิดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงแห่กันลงมาฉีกยับเยินราวกับมีคนสั่ง ยังดีที่หัวหน้าฝูงลิงชื่อ “ไอ้จุก” ไม่ได้ชื่อพ้องกับใครทั้งในวงการเมืองและในคสช. ก็เลยรอดพ้นข้อหาบ่อนทำลายและขัดขวางการลงประชามติ แต่ไมว่าจะมีอุปสรรคอันใด เชื่อว่าการลงประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเกิดขึ้นแน่และเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้น ฝ่ายคาดเดาว่าจะผ่านกับฝ่ายไม่ผ่านยังก้ำกึ่งกัน แม้โพลระยะหลังๆประชากรสำรวจ จะเริ่มตอบคำถามข้อที่ว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ชัดเจนขึ้น โดยฝ่ายไม่รับเริ่มมีจำนวนมากกว่ารับ แต่เมื่อเอาคนสองกลุ่มนี้มารวมกันแล้ว จำนวนยังน้อยกว่ากลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจมากว่าเท่าตัว เพราะฉะนั้น คะแนนเสียงที่จะชี้ขาดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านจึงอยู่ที่กลุ่มที่ยั ไม่ตัดสินใจ คนกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือพวกที่ตัดสินใจแล้ว แต่เก็บความคิดของตนไว้ในใจ กับพวกที่ยังไม่ตัดสินใจจริงๆ รอตามกระแสหรือตัดสินใจตามน้ำเมื่อถึงวันเลือกตั้งหรือนาทีสุดท้ายก่อนหย่อนบัตร อาจจะมีอยู่บ้างที่เป็นนักเลือกตั้งอาชีพ จัดตั้งโดยหัวคะแนนของนักการเมือง ประเภท “เงินไม่มา กาไม่เป็น” แต่งานนี้ไม่ได้เลือกตัวบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องรอขากระเป๋า เพียงแต่หัวคะแนนให้อาณัติสัญญาณออกมาเมื่อใด ก็ไปเมื่อนั้น คะแนนเสียงภาคใต้ 14 จังหวัดและกรุงเทพฯ รอประชาธิปัตย์อยู่ว่า จะส่งสัญญาณใดออกมา ส่วนเหนือ อิสาน ภาคกลาง ส่วนใหญ่ตัดสินใจไปตามกระแสที่ผู้นำพรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่ชี้นำไปแล้ว อย่างไรก็ดี แม้จะมีแนวโน้มว่า ร่างฯฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ ทว่ากูรูการเมืองหลายคนมองว่า อาจจะมีพลังเงียบบางส่วนต้องการการเลือกตั้งและต้องการให้คสช.พ้นจากอำนาจไปโดยเร็ว จึงยอมให้ผ่านเพื่อไปตายเอาดาบหน้า แม้จะไม่ชอบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งท่อนก็ตาม โดยหวังจะไปปลุกกระแสประชาชนให้ลุกขึ้นมาล้มล้างสารตกค้างคสช.ที่หลงเหลืออยู่มากมาย โดยเฉพาะอำนาจตกค้างในวงการการเมืองและในวงราชการ ตั้งแต่หลังสิ้นเดือนเป็นต้นไป คงจะมีการสร้างข่าว ทั้งลวง ทั้งจริงกันถี่ขึ้นๆไปจนถึงวันลงคะแนนเสียง กลยุทธเหลี่ยมคูทั้งหลายของผู้เจนสนามการเมืองจะพรั่งพรูกันออกมากในช่วงดังกล่าว ช่วงนี้คือช่วงชิงคะแนนเสียงจากกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งน่าจะได้ผลถึง 80% ส่วนจะได้ผลทางไหน ยังคงคาดเดาไม่ได้ เพราะแม้ท่าทีของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ภายในพรรค โดยเฉพาะระดับกรรมการบริหาร ส่วนใหญ่อยากให้ผ่าน เพื่อที่จะได้ใช้โอกาสหลังลงประชามติไปจนถึงวันเลือกตั้ง ทะลายกำแพงคสช.ที่ปิดกั้นการทำกิจกรรมทางการเมือง และแม้จะดูว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของคสช. แต่โดยวิถีประชาธิปไตยแล้ว นักการเมืองยังมองเห็นช่องโหว่กว้างพอที่จะเข้าไปลิดรอนอำนาจหรือจำกัดบทบาทของอำนาจตกค้างของคสช.ลงได้ แม้รัฐธรรมนูญจะมีเนื้อด้านสิทธิพื้นฐานที่สวยหรู แต่ก็แฝงไว้ด้วยกับดัก โดยเฉพาะเปิดช่องให้คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปอีก 15 เดือนหรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง อีกด้านหนึ่ง หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แม้จะเป็นการเสียหน้า ทว่าการยกร่างใหม่หรือนำมาตราที่ประชามติไม่รับมาแก้ไข ก็ทำให้คสช.ใช้เป็นข้ออ้างในการอยู่ต่อมีการ สร้างกระแสชื่นชมผลงานของรัฐบาลคสช. โดยเฉพาะผลงานของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จนทำให้เกิดความรู้สึกร่วมว่า การสืบทอดอำนาจหรือการอยู่ต่อของคสช. เป็นความชอบธรรม แต่ก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองประเทศไทยให้ถ่องแท้ก่อนว่า มีรัฐบาลไหน ผู้นำคนไหน อยู่ในอำนาจนานๆโดยประชาชนไม่เบื่อหน่ายบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารนั้น มักจะอยู่ไม่นาน เพราะจุดประสงค์ของการทำรัฐประหารที่ประกาศออกมาว่า เพื่อแก้ปัญหาและสถานการณ์ที่ร้ายแรง เมื่อแก้ได้แล้วก็ต้องพ้นหน้าที่ไป ถึงเวลาที่ต้องไป ถ้าไม่ไป ประชาชนก็จะออกมาไล่ไปเอง ส่วนเงื่อนไข “ถึงเวลา” เมื่อใดนั้น มักจะเป็นไปตามสามัญสำนึก คือเมื่อประชาชนเห็นว่าถึงเวลาที่ต้องไป ก็ถือว่า “ถึงเวลา” ที่ต้องไป ใครฝืนความรู้สึกของประชาชน ความเสื่อมศรัทธาของประชาชนจะเป็นตัวบ่อนทำลายผู้นำคนนั้นเอง แม้ทุกวันนี้รัฐบาลคสช.จะพยายามสร้าง “ประชานิยม”แฝงไปในรูปแบบต่างๆ มีการประชาสัมพันธ์ มีการโปรประกันดามากมาย แต่คนไทยวันนี้ฉลาดขึ้นมาก พวกเขารู้แม้กระทั่งว่าผลที่ตามมาระยะยาวจากรัฐบาลเฉพาะกาลเป็นอย่างไร ทำให้ประเทศดีขึ้น หรือเลวลง หรือเป็นเพียงการสร้างภาพเพื่อลดกระแสต่อต้านทั้งจากภายในประเทศและจากนานาชาติเท่านั้น จึงเป็นเรื่องกะเกณฑ์ไม่ได้ว่า เวลาที่เหมาะสมหรือถึงเวลาที่คสช.จะไปจะเป็นเมื่อใด และเมื่อไปแล้ว จะยังมีสารตกค้างอยูเหมือนครั้ง พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปี 2519 พูดจาเล่นหัวกับนักข่าวว่า “สงัดไป แต่ชลออยู่” สารตกค้างก็คืออำนาจของคณะปฏิรูปฯปี 2519 มีแรงส่งไปถึงการทำรัฐประหาร(ตัวเอง)ในปี 2520 ด้วยข้ออ้างว่า แผนปฏิรูปประเทศของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปฯคือนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นั้นนานเกินไปคือกรอบเวลาถึง 12 ปี ยึดอำนาจการปกครอง ปฏิรูปกันระยะสั้นๆให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกฯไปเลือกตั้งกันปี 2522 เช่นนี้ เป็นการถึงเวลา เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยมาถึงและหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ เพราะเวลามาถึงแล้ว