แสงไทย เค้าภูไทย รัฐบาลแถลงผลงานเนื่องในโอกาสรบรอบ 2 ปีมีแต่ด้านกฎหมายและการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น ขณะที่โพลส่วนใหญ่ประชาชนชื่นชอบตัวนายกฯและผลงานด้านปราบปรามคอรัปชั่น ทั้งนี้ตัวนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติทางทีวี ส่วนรองนายกรับมนตรีดร.วิษณุ เครืองาม แถลงผลงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีเน้นหนักด้านกฎหมาย เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่รัฐบาลไมว่าจะยุคไหนชุดไหน เมื่อแถลงผลงานของรัฐบาลในวาระครบรอบปี ย่อมจะเอาแต่สิ่งดีๆมาพูดสำหรับรัฐบาลนี้ สิ่งที่คนไทยอยากรู้ก็คือด้านปากท้องหรือด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นปัญหาใกล้ตัวที่สุด ซึ่งที่ผ่านๆมา ข่าวและข้อมูลของรัฐบาลมักจะมีแต่ตัวเลขบ่งชี้ในทางที่ดี บดบังด้านลบแต่สิ่งที่เป็นปัญหาไม่สู้ดี เช่นปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอก ไม่ค่อยกล่าวถึง จะมีก็แต่โพลของสำนักต่างๆ รวมถึงข้อมูลและความเห็นของนักวิชาการที่ค่อนข้างจะเป็นลบมากกว่าเป็นบวก อย่างเช่นล่าสุด การทำงบประมาณแผ่นดินปีการเงิน 2017 ของรัสเซียที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่หนึ่งในกลุ่ม BRICS ส่งสัญญาณไม่ดีในเหตุผลในการลดงบประมาณรายจ่ายย่างรุนแรงเพื่อให้สอดคล้องกับรายรับที่มีน้ำมันดิบเป็นสินค้าหลัก ซึ่งมีการตั้งคาดการณ์รายได้จากน้ำมันที่ราคา 40 ดอลลาร์ต่อบาเร็ลราคาน้ำมันดิบต่ำ แสดงถึงปริมาณการใช้น้ำมันเพื่อการผลิตต่ำ อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวอยู่ เศรษฐกิจยุโรปยังต้องการ QE อีกต่อไป เช่นเดียวกับจีนและญี่ปุ่น ขณะที่สหรัฐการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้าเช่นเดิม สำหรับปัจจัยภายในขณะนี้มีปัญหาด้านสินค้าเกษตร ที่ผลผลิตต่ำจากภัยแล้ง ซ้ำราคายังต่ำเนื่องจากเศรษฐกิจโลกหดตัวความต้องการสินค้าเกษตรไทยต่ำสินค้าส่งออกนอกเหนือจากสินค้าเกษตรตกต่ำเช่นกัน รถยนต์ที่เป็นสินค้าทำรายได้เป็นมูลค่าสูงอันดับ 1 ยอดส่งออกตกต่ำยังผลให้มีการปลดคนงานในอุตสาหกรรมสาขานี้เพิ่มขึ้นการช่วยเหลือเกษตรกรแบบประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าวหรือประกันราคาพืชผลเกษตร เคยดูดซับแรงงานที่ตกงานจากภาคอุตสาหกรรมได้มาก โดยเฉพาะการรับจำนำข้าวนั้น ถึงกับทำให้ขาดแคลนแรงงานสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะแรงงานออกไปทำนากันมาก ข้าวราคาดีจนถึงกับมีการขโมยเกี่ยวข้าวแต่หลังจากยกเลิกมาตรการรับจำนำข้าว แรงงานภาคเกษตรก็ทิ้งนา เข้าเมืองมาหางานทำใหม่การรับจำนำข้าวเป็นการช่วยเหลือแบบรัฐช่วยเหลือ ( state aid) และสนับสนุนจากรัฐ( state subsidiary )ไม่ต่างไปจากการประกันราคาข้าว ประกันราคาพืชผลผลิต การจ่ายชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จ่ายช่วยเหลือชาวสวนยางพา ชาวไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฟาร์มโคนม ฯลฯ ถ้าจะคิดในเชิงการค้าแล้ว ถือว่ารัฐขาดทุนทั้งสิ้น แต่ถ้าคิดในด้านการช่วยเหลือของรัฐ( state aids) ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อผลในการเยียวยาความเดือดร้อน แต่ต้องไปแก้ปลายน้ำหรือปลายทาง คือการส่งออก เพราะเป็นการบิดเบือนกลไกราคาตลาดมองอีกด้านเป็นการมองในแง่ลบ หรือมองในแง่การเมือง การช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่ว่าจะในด้านใดสามารถจะกล่าวโทษได้ว่าเป็นการหาเสียง สร้างประชานิยมในการประชุม G20 เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีการกล่าวถึงเรื่องประชานิยมเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ว่ามีผลกระทบถึงเศรษฐกิจโลกการช่วยเหลือของรัฐต่อผลผลิตการเกษตรเช่นนี้ บางกรณีเข้าข่ายการละเมิดข้อตกลงทางการค้าของโลก เข้าข่าย state subsidiary เนื่องจากไปลดต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้าออกสู่ตลาดโลกราคาถูก ถือเป็นการเอาเปรียบชาติที่มีผลผลิตชนิดเดียวกัน ที่ผลิตแบบพึ่งตนเอง การรับจำนำข้าวก็เคยถูกองค์กรการค้าโลก(World Trade Organization-WTO) จับตามองเหมือนกัน แต่การช่วยเหลือจากรัฐกรณีนี้ มิได้บิดเบือนกลไกราคาในเชิงลบ หากแต่ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกวาชาติอื่นๆ ชาติผลิตข้าวที่มีผลผลิตส่งออกเสียอีกที่ได้รับผลประโยชน์ จนถึงกับทำให้ไทยสูญเสียความเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวในตลาดโลก เปิดโอกาสให้อินเดียขึ้นมาแทนที่ และในบางส่วนเวียดนามชิงตลาดไปได้ แต่ถ้าคำนึงถึงการช่วยเหลือเกษตรกร ถือว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสม ในภาวะที่ความเหลื่อมล้ำมีสูง การช่วยเหลืออุดหนุนของรัฐ ช่วยให้รากหญ้ามีงานทำมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นจะเห็นได้ว่า ช่วงรับจำนำข้าว แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะท้องนามากขึ้น แม้รัฐจะขาดทุนแต่ก็ถือว่าเงินไหลเข้าสู่ครอบครัวชาวนาที่ขึ้นทะเบียนชาวนา ทำให้ครอบครัวชาวนากว่า 4 ล้านคน มีรายได้สูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำของรายได้ลดลงมาก จาก 15-1 เท่าตัว เหลือ 11-1 เท่าตัวเมื่อเทียบรายได้ของประชากรยากจนกลุ่ม 10 % ล่างสุด กับกลุ่ม10% รายได้สูงสุด(ร่ำรวย) บางพื้นที่ที่มีการทำนามากเช่นสุพรรณบุรี กลายเป็นจังหวัดที่เส้นความยากจน( poverty line) อยู่ขีดต่ำที่สุดในประเทศ แต่เมื่อการรับจำนำข้าวถูกยกเลิก แรงงานพากันหนีออกจากภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะท้องนารายงานการสำรวจภาวะการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย( สค.ปท.) พบว่าปัญหาที่ดินหลุดมือชาวนายังคงมีต่อเนื่องเพราะภาระหนี้สิน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้จากการทำหน้า ภัยแล้ง ราคาผลผลิตตกต่ำ นับแต่ปี 2002 จนถึงปีที่แล้ว เกษตรกรสูญเสียที่ดินไปจากการจำนอง การขายฝาก การขายขาด ไม่ต่ำกว่า 260,000 ไร่ เฉลี่ยปีละ 16,250 ไร่ ล่าสุด รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ 149 ล้านไร่ เกษตรกรเป็นเจ้าของเพียง 71.59 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้เป็นที่ดินติดจำนองและขายฝากถึง 30 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ มีความเสี่ยงที่จะหลุดมือเกือบ 90%เมื่อมากระทบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การค้าโลกหดตัวลง มูลค้าการค้าโลกลดลงกว่า 15%ของภาวะปกติ แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมก็ยิ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้น รายงานการสำรวจภาวะและความคิดเห็นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้ พบว่า แรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า15,000 บาทต่อเดือน มีหนี้สินถึง 95.9% เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 8 ปีผลสำรวจความเห็นของแรงงานต่อค่าแรง 95.7% เห็นสมควรขึ้นค่าแรง โดยค่าแรงที่เหมาะสมควรจะเป็น 356.76 บาท่อวันนี่คือที่มาของการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 360 บาทต่อวันของรัฐบาลชุดนี้ภาคการผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่มีสัดส่วน 78% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด การกีดกันทางการค้าด้วยข้ออ้างไทยมีรัฐบาลเผด็จการทหาร(junta) มีการแทรกแซง( sanction) การแบนสินค้าผลิตภัณฑ์ประมง ทำให้สูญเสียรายได้ไมต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องหันมาพึ่งการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการค้าชายแดน แต่ก็พลาดเป้า 1 ล้านล้านบาทตัวเลขส่งออกติดลบมาตลอด โดยเฉพาะตัวเลขลาสุด -6.4% สุดในรอบ 5 ปี(เดือน เม.ย..-8% ต่ำสุดในรอบ 8 ปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank) แสดงความวิตกว่าภาวะส่งออกติดลบของไทยจะกินเวลายาวถึง 4 ปี การผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดการจ้างงานมากพอๆกับภาคเกษตรกรรม ทำให้ตัวเลขว่างงานของคนไทยสูงที่สุดในรอบ 4 ปีคือกว่า 453,000คน สูงสุดในรอบ 5 ปี จากสิ้นไตรมาสที่ 2 จำนวน 411,124 คน(สศช.)ส่งผลโดยรวม ทำให้คนไทยระดับรากหญ้ากลับมาจนเหมือนเดิม หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงกว่า 81% ของจีดีพีซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 8 ปีเช่นกัน สำหรับสัดส่วนการเป็นหนี้ของครัวเรือนนั้น โพลของม.หอการค้าฯเก็บข้อมูลสำรวจช่วง 1-12 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า หนี้ครัวเรือนไทยมีถึง 85.7% ขณะที่ครัวเรือนไทยที่ไม่มีหนี้สินมีเพียง 14.3% เท่านั้นถือเป็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี ภาวะติดหล่มประเทศรายได้ปานกลาง ( middle income countries trap) ที่ทำท่าจะดีขึ้นก็กลับมาทรุดลงอีกจึงไม่แปลกที่โพลเกี่ยวกับผลงานรัฐบาลที่ออกมา รัฐบาลผ่านเกณฑ์สอบตกมาเฉียดฉิว หรือถ้าเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้าไม่ว่าจะรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องถือว่าสอบตกนี่คือผลงานของรัฐบาลที่ยังไม่ได้แถลง