หลายคนพยายามเผยแพร่แนวคิดของตนที่มองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นชนวนก่อความรุนแรงในสังคมไทยในอนาคต ! การเสนอแนวคิดนี้มีทั้งพูดให้สื่อมวลชนฟังเพื่อให้ปรากฏตามสื่อ และมีทั้งที่นำลงในโซเชียลมีเดีย
ถ้ามองโลกมองสังคมอย่างนั้น ก็คงจะต้องเห็นว่า เรื่องที่ประธานาธิบดีประเทศตุรกีทำ ภายหลังจากปราบทหารกบฏได้ เช่น ปลดผู้พิพากษาหลายพันคน ปลดคณบดีและคณาจารย์ในสถาบันศึกษาเป็นหมื่นคน ซึ่งคนเหล่านั้นจะเกี่ยวโยงผูกพันกับกองทหารกบฏไม่กี่พันคนที่ก่อการนั้นได้มากมายอะไรปานนั้น เรื่องอย่างนี้ มิยิ่งกว่าชนวนระเบิดที่จะก่อความรุนแรงในสังคมได้หรือ
ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีก เราจะพบว่า ปัจจัยต้นเหตุที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทยนั้นมีปัจจัยหลายเรื่อง เรื่องที่สำคัญ ๆ ก็เช่น รากเหง้านิยมความรุนแรงที่หมกซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมไทย , ความ”ไม่รู้คิด” ของคนไทยส่วนหนึ่ง , กลเกมการเมืองของผู้มีอิทธิพลสูง , ความกดดันต่อกลุ่มชนบางกลุ่ม , กลเกมของต่างชาติ ฯลฯ
อย่ามาลงโทษที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย !
หลักทฤษฎีนั้นเป็นนามธรรม ส่วนรูปธรรมคือแนวคิดความเชื่อในสมองของพลเมือง เราจะพูดถึงหลักการประชาธิปไตยให้งดงามอย่างไรก็ได้ แต่การปฏิบัติรูปธรรม ก็ตัดสินจากความคิดความเชื่อของคนในสังคมขณะนั้น ๆ อย่างเช่น นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า หลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงมีลักษณะสองประการได้แก่ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของแนวคิด ไม่ใช่การเข้าไปมีอำนาจของคนที่ได้เสียงส่วนมาก แต่เป็นวิธีการเข้าไปเกี่ยวพันกับคนส่วนน้อย
สำหรับประชาธิปไตยในความคิดนั้น จะต้องเป็นพหุภาคี คือมีคนส่วนใหญ่ที่เข้ามามีอำนาจในระบบประชาธิปไตย แต่ยังมีพื้นที่แบ่งปันที่สามารถทำงานร่วมกันได้ และสามารถแบ่งปันคุณค่าร่วมกันบางอย่างได้ อีกประการหนึ่งคือเรื่องหลักนิติธรรมต้องดำเนินไปโดยไม่มีการโน้มเอียง หรืออคติใด ๆ ไม่ว่าจะในศาล หรือการดำเนินการของรัฐบาล ซึ่งประชาธิปไตยจะสามารถทำงานได้ดีในการปรองดอง หากเป็นประชาธิปไตยที่แท้ทำงานด้วยกันโดยยึดหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน” (ปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” ณ กรุงเทพ)
วิสัยทัศน์ของ โทนี แบลร์ เป็นหลักวิชาการที่ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับในทางสากล แต่ปัญหาคือ ทำอย่างไรคนไทยส่วนข้างมากจึงจะมีวิสัยทัศน์อย่างนี้หนทางการสร้างวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องดีงาม มิใช่การออกกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญ ฯลฯ แต่คืองานด้านวัฒนธรรม โดยสร้างค่านิยมใหม่ที่ถูกต้องดีงาม และงานวัฒนธรรมนี้ก็มิได้จำกัดอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่เป็นภาระหน้าที่ของทุกองค์กร
ต้องทำให้คนส่วนใหญ่มีค่านิยมใหม่ที่ถูกต้องดีงาม การปรับปรุงแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างสังคมอันเป็นต้นตอของปัญหาสังคมแทบทุกประการจึงจะเกิดเป็นจริงได้
การปฏิรูปการเมืองด้านเดียว ไม่ปฏิรูปด้านอื่น ๆ พร้อม ๆ กัน มันคือการแสดงจำอวด ตลกหน้าม่าน การปฏิรูปการเมืองจะเกิดจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูประดับโครงสร้างในด้านอื่น ๆ กระบวนการปฏิรูปเหล่านี้ เราอาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากระบวนการสร้างค่านิยมใหม่ก็ได้
การปลูกฝังค่านิยมใหม่ ก็เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่กินเวลายาวนาน ต้องเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งกว้างทั้งลึกทั้งต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดติดขัด......
ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของประเทศไทยแล้ว เรายังไม่เคยมีการเคลื่อนไหวลักษณะนั้นเลย