ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสภาฯล่มซ้ำซากได้ โดยพบว่าตั้งแต่เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญมามีเหตุการณ์สภาฯล่มแล้ว4 ครั้ง ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน ครั้งที่สอง เมื่อ 17 พฤศจิกายน ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่...) พ.ศ.... และครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยและคณะเป็นผู้เสนอ. และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ระหว่างเตรียมลงมติ เรื่อง รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวตั้งข้อสังเกตเอกภาพของทางฝั่งรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมทางภาคใต้ในจังหวัดชุมพร เขต 1 และสงขลา เขต 6 แล้วยังมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ร่วมไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ๆ ในอนาคต ตนคิดว่านี้เป็นตัวที่บ่งบอกเสถียรภาพของรัฐบาลและการคุมเสียงของฝ่ายรัฐบาลพอสมควร ส่วนกังวลว่าสภาล่มบ่อยๆ อาจเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสั่งยุบสภา เนื่องจากสภามีปัญหานั้น ยอมรับว่ามีปัญหาแน่นอน และเป็นเเรงกดดันไปถึง ส.ส.ฝั่งรัฐบาล วิปรัฐบาล และผู้คุมวิปรัฐบาล และแน่นอนว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อนายกรัฐมนตรี ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การยุบสภาคือสภามีปัญหา ซึ่งการที่องค์ประชุมไม่ครบแล้วทำให้สภาล่มก็ถือเป็นปัญหาอย่างมีนัยยะสำคัญที่ของสภาเหมือนกัน จึงต้องพึงรักษาสภากันไว้ ในฐานะส.ส. ถ้าไม่อยากจะเลือกตั้งกันเร็วก็ต้องช่วยกันรักษา เพราะเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสามารถนำไปเป็นเหตุยุบสภาได้ ส่วนที่มีส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีหลายคนไม่มา คงเพราะติดงาน เร่งทำงานเข้าพื้นที่เพราะใกล้สิ้นปี ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่ององค์ประชุมควรถือเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย เพราะ ส.ส.เสมือนตัวแทนประชาชน แม้ว่าการขอตรวจสอบองค์ประชุม หรือการไม่แสดงตนจะเป็นสิทธิของฝ่ายค้านก็ตาม ทั้งนี้น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมาหากฝ่ายค้านขอตรวจสอบองค์ประชุม หรือไม่แสดงตนนั้น จะเป็นการทำเพื่อตอบโต้รัฐบาล แต่เหตุสภาฯ ล่มล่าสุดนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาญัตติที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมี ส.ส.เกือบทุกพรรคร่วมกันเสนอญัตติ ดังนั้น จึงควรเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ร่วมกันเป็นกรรมาธิการ ไม่ควรจะโยนว่าเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล อีกทั้งการที่ฝ่ายค้านขู่เล่นเกมสภาฯ ล่มต่อไป โดยอ้างว่าเป็นการให้บทเรียนรัฐบาลจนกว่าจะยุบสภาฯ นั้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ฝ่ายค้านโหยหาอำนาจมากกว่าการปกป้องประโยชน์ของประชาชนด้วยการตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาลผ่านกลไกรัฐสภาใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น เป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการบริหารจัดการของประธานวิปรัฐบาล นายนิโรธ สุนทรเลขา ซึ่งเป็นคนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเลือกมาให้ทำหน้าที่ อีกทั้งจะเห็นว่า ปัญหาสภาล่มที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เป็นปฏิกิริยาหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล กระนั้น ก็ตาม ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ล้วนแล้วแต่กินเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน ฉะนั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ภายใต้เหตุผลกลใด ต้องมีคำอธิบายต่อประชาชน