เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
โควิดเปลี่ยนวิถีชีวิต หนึ่งนั้นคือ การเติบโตของฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่ทำให้บรรดามอเตอร์ไซค์วิ่งขวักไขว่ในชุมชนหมู่บ้านในเมืองหลวง ปริมณฑล และเมืองใหญ่ ส่งอาหารกันทั้งวัน
ใครที่คิดว่าโควิดมา คนอยู่บ้านจะทำอาหารกินเองมากขึ้นน่าจะคาดการณ์ผิด เพราะสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสมัยใหม่ไม่ต่างจากประเทศพัฒนาต่างๆ ทั่วโลก ที่อุตสาหกรรมอาหารเติบโตมากว่าร้อยปี และพยายามหาวิธีการให้คนเลิกทำอาหาร “บ้าน” แต่กินอาหาร “โรงงาน” หรืออาหาร “บริษัท”
อุตสาหกรรมอาหารทำให้ทุกอย่างรวดเร็ว สะดวก อร่อย ราคาไม่แพง ไม่ยุ่งยากในการทำครัว ไม่ต้องไปตลาด แล้วทำอาหารเองด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนถ้าต้องการกินอร่อย แล้วยังล้างจานชาม หม้อไหให้เหนื่อย
มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อเชิญชวนคนให้หันมากินอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป อาหารที่ใส่ไมโครเวฟเพียงสองสามนาทีก็กินได้เลย วันนี้จึงไม่ได้มีแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เทน้ำร้อนลงไปก็กินได้ แต่มีอาหารเกือบทุกรูปแบบที่เคยสั่งกินที่ร้านอาหารก็สั่งได้ที่ร้านสะดวกซื้อ เขาอุ่นให้ไม่กี่นาทีก็กินได้ หรือซื้อที่เขาแพ็คไว้ ฟรีซไว้ที่ห้างเอาไปเข้าไมโครเวฟหรืออุ่นกินที่บ้านได้เลย
อาหารจานด่วนและสำเร็จรูปพวกนี้ที่ “บริษัทธุรกิจอาหาร” ปรุงให้ เตรียมไว้ ล้วนหนักหวาน มัน เค็ม แต่มีรสชาติอร่อย กินแล้วติด กินแล้วอยากกินอีก กินมากขึ้น
ผลของการสำรวจที่อเมริกาพบว่า เวลาที่คนทำอาหารกินเองในครัวเหลือเพียง 27 นาที ล้างจาน 4 นาที แต่คนอ้วนขึ้นทุกปีจนปัจจุบันคนอเมริกัน 2 ใน 3 น้ำหนักเกิน 1 ใน 3 เป็นโรคอ้วน และเป็นเบาหวานประเภทสอง 34 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 และเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา
มีการวิจัยพบด้วยว่า ครอบครัวที่ทำอาหารกินเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยหรือยากจนด้วยซ้ำ กลับมีสุขภาพโดยทั่วไปดีกว่า รวมทั้งข้อมูลจากทั่วโลกพบเช่นเดียวกันว่า ประเทศยากจนที่คนทำอาหารกินเองที่บ้าน ไม่มีเงินไปซื้ออาหารอุตสาหกรรมหรือเข้าร้านอาหารกลับมีสุขภาพดีกว่า อ้วนน้อยกว่า เป็นเบาหวานน้อยกว่า โดยเฉพาะคนในชนบทในประเทศเหล่านี้
เป็นปรากฏการณ์เดียวกับที่เมืองไทย ซึ่งวิถีเมืองกับชนบทใกล้กันมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ดี คนเมืองมีวิถีชีวิตและปัญหาสุขภาพแทบไม่แตกต่างจากอเมริกา ยุโรป ประเทศพัฒนาแล้ว เพราะกินเหมือนกัน อยู่เหมือนกัน ทำงานเหมือนกัน เครียดเหมือนกัน สูดอากาศเป็นพิษเหมือนกัน ถึงได้ป่วยเหมือนกัน โรคเดียวกัน
การชักจูงคนให้หันกลับมาทำอาหารกินเองที่บ้านไม่ใช่เรื่องง่าย อุตสาหกรรมอาหารรณรงค์ทุกวิถีทางเพื่อให้คนลดละเลิกทำอาหาร ยกแม้กระทั่งเรื่องสิทธิสตรี อย่างที่บริษัทที่อเมริกาขึ้นป้ายว่า “ปลดปล่อยสตรี” (Women Emancipation) เพื่อจะได้บอกว่า สตรีควรออกจากครัวได้แล้ว ทำงานในออฟฟิศ ในโรงงานมาทั้งวันเหนื่อยแล้ว ยังต้องมาเลี้ยงลูกเลี้ยงผัวทำอาหารล้างจานอีก
อีกด้านหนึ่งก็ส่งเสริมการแข่งขันกันทำอาหารทางทีวี ซึ่งมีรายการประเภทนี้มากมายไม่ว่าอเมริกา ยุโรปหรือที่บ้านเรา คนติดตามชมการแข่งขัน และชื่นชมว่า การทำอาหารเป็นศิลปะและทักษะขั้นสูง ที่ตนเองคงไม่อยากทำ เพราะไม่ได้เก่งขนาดนั้น หรือแม้แต่คลิปวิดิโอมากมายเรื่องการทำอาหาร สอนการทำอาหารในยูทูบ หลายคนก็ชอบดู แต่ก็ใช่ว่าทุกคนดูแล้วจะเอาไปทำ ส่วนใหญ่คงตื่นเต้น แล้วก็ลืมไป
คนจำนวนมากยังพึ่งพาอาหารถุงจากแม่ค้า ร้านสะดวกซื้อ และพึ่งเดลิเวอรี่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติแล้วสำหรับหลายคนที่สั่งอาหารเกือบทุกวัน เหมือนผูกปิ่นโตเลยก็มี
อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่ง กระแสสุขภาพก็กำลังมาแรง คนเริ่มรู้สึกว่า การเสพติดอาหารจานด่วน อาหารถุง หรือเดลิเวอรี่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะเคิดถึงกระบวนการทำอาหาร ผงชูรส หวานจัด เค็มจัด มันจัด อาหารปนเปื้อนสารเคมีที่ก่อมะเร็งอย่าง ethylene oxide ที่ตรวจพบในอาหารในยุโรป จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน เส้นเลือดตีบ ที่เพิ่มขึ้นทุกปีเกี่ยวกับอาหารด้วยแน่ๆ
คนสมัยก่อนไม่ได้กินอาหารวันละ 5-6 มื้ออย่างวันนี้ บางวันอาจหาเช้ากินค่ำ พระท่านก็ฉันเพียง 2 มื้อ บางรูปมื้อเดียวด้วยซ้ำ ซึ่งการแพทย์กระแสรองวันนี้ที่มาแรงก็แนะนำให้คนกินให้น้อยครั้งลง เหมือนพระได้ยิ่งดี น้ำหนักจะลดไม่มีโยโย้ โรคร้ายแรงต่างๆ จะลดลง เพราะระหว่างการอด ร่างกายจะ “ทำความสะอาด” ตัวเอง มีหลักการอย่างการกินตัวเองของเซลล์ที่เรียกว่าออโตฟาจี้ (autophagy) ที่คนญี่ปุ่นที่คิดได้รางวัลโนเบล
ถ้าเห็นคุณค่าของการอดก็จะเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพ ไม่เกิดโมโหหิวจนเกิดโศกนาฏกรรม “กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่” และการที่คนผอมอย่างมีคุณภาพจึงไม่ได้แปลว่าป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพ ถ้าทำโดยตั้งใจและมีแบบแผน ไม่ได้คิดเหมือนผู้คนทั่วไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เห็นว่าอ้วนแปลว่าสุขภาพดี เด็กอ้วนพีจึงชนะการประกวด
ควรต้องเขียนติดข้างฝาวันนี้ว่า “ยาดีที่สุด คือ อาหาร โรงพยาบาลดีที่สุด คือ ครัว หมอดีที่สุด คือ ตัวเราเอง” และมองว่า การทำอาหารเป็นงานที่มีคุณค่า เป็นศิลปะที่เราทุกคนทำได้ เรียนรู้ได้ จะใส่อะไรลงไปแบบไหนอย่างไรก็ปรับได้ ประยุกต์ได้ เป็นงานสร้างสรรค์จรรโลงสุขภากาย สุขภาพจิตที่ดีที่สุด
ปัญหาอยู่ที่การรู้เท่าทันอุตสาหกรรมอาหาร การโฆษณาที่ทำให้อยากกิน ข้อมูลข่าวสารความรู้ที่โหมกระหน่ำมาทางโซเชียลมีเดียและสื่อน้อยใหญ่ จนไม่กลัวสิ่งที่แฝงตัวมากับอาหารอร่อยปากอร่อยลิ้น จะมีอะไรร้ายแรงและรุนแรงเท่ากับการเสพติดอาหาร ที่ยากต่อการลดละเลิกกว่าการเสพติดทุกชนิด
ดูตัวเลขคนอ้วนกับเบาหวาน และโรคอื่นๆ ทำให้พอมองเห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารกับอุตสาหกรรมยา และการแพทย์ ไปด้วยกัน โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ต้องการบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขขยายโตขึ้น เหมือนจงใจละเลยที่มาสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บ พอใจที่จะซ่อมมากกว่าสร้างสุขภาพ
คนอายุยืนยาวขึ้นก็จริง แต่ “อย่างไร” อยู่ได้ด้วยหมอด้วยยา ด้วยคุณภาพชีวิตที่เหมือนตายทั้งเป็นหรือไม่ ทำไมเราไม่ดูแลตัวเองตั้งแต่ยังมีเรี่ยวแรงที่ทำได้ด้วยการทำอาหาร “ดีๆ” กินเองให้มากที่สุด ถ้ารัฐส่งเสริมการสร้างสุขภาพไม่น้อยกว่าที่ใช้เพื่อซ่อม สุขภาพประชาชนจะดีขึ้น งบประมาณการรักษาจะน้อยลง