สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ให้ก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลและสังคมไร้เงินสดอย่างรวดเร็ว จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดทางด้านสาธารณสุข ทำให้มีต้องทำงานที่บ้าน สั่งสินค้าออนไลน์ และมาตรการการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องลงทะเบียน และปฏิบัติการผ่านแอพพลิเคชั่น ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนดุสิตโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 87.11เคยชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต โดยบริการที่ประชาชนเลือกชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ได้แก่ อันดับ 1 ซื้อของออนไลน์ 78.88% อันดับ 2 ชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต 76.46% อันดับ 3 ทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น โอนเงิน ตัดบัญชี 73.16% อันดับ 4 สั่งอาหารออนไลน์ 66.01% และ อันดับ 5 ผ่อนชำระค่าบ้าน ค่ารถ 42.13% หากเปรียบเทียบก่อนและเมื่อมีโควิด-19 ประชาชนชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ปัญหาเรื่องความปลอดภัย หรือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากข้อร้องเรียนผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆจากปี พ.ศ. 2563 ถึงเดือนสิงหาคม 2564 ทั้งหมดจำนวน 1,167 ครั้ง แบ่งเป็น ปี 2563 มีการร้องเรียนทั้งหมด 742 ครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด 3 ลำดับได้แก่ ไม่ได้รับสินค้าและบริการจำนวน 179 ครั้ง ราคาไม่ตรงป้าย 72 ครั้ง และราคาแพงเกินจริง 69 ครั้งกลุ่มบริการประเภทปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดสามลำดับ ได้แก่ขอคืนสินค้าไม่ได้ ขอยกเลิกบริการไม่ได้ 33 ครั้ง ชำรุดบกพร่องได้รับความเสียหาย17 ครั้ง และโฆษณาเป็นเท็จเกินความเป็นจริง 10 เรื่อง และ ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนสิงหาคมได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั้งหมดจำนวน 425 ครั้ง อีกด้านหนึ่ง นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากรายงานของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน2564 มีประชาชนร้องเรียนและติดต่อเข้ามารวม 48,513 ครั้ง โดยเป็นการร้องเรียนปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ถึง 33,080 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากสถิติทั้งปี 63 ที่มีจำนวน 20,619 ครั้ง ซึ่งดีอีเอสได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเร่งแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค โดยเมื่อประมวลข้อมูลการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการซื้อขายออนไลน์ตั้งแต่ต้นปี รวมจำนวนเรื่องได้ทั้งหมด 10,248 เรื่อง และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 80% ขณะที่ สถานการณ์ปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในช่วงเดือน พ.ย. 64 จำนวนการร้องเรียนอยู่ที่ 4,772 ครั้ง โดยปัญหามากสุด คือ ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) ถึง 40% ตามมาด้วยสินค้าไม่ตรงปก (ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ผิดสี/ขนาด ไม่ตรงตามโฆษณา 30% นอกเหนือจากนี้ ได้แก่ ปรึกษาด้านการซื้อขายออนไลน์ 14% ได้รับสินค้าชำรุด 4% สอบถามขั้นตอนการแจ้งร้องเรียนหลักฐานที่ต้องใช้ 2% ได้รับสินค้าผิดกฎหมาย (สินค้าปลอม) 1% และได้รับสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด 1% ทางด้านช่องทางการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับการร้องเรียนมากสุด ได้แก่ เฟซบุ๊ก 82.1% ตามมาด้วย เว็บไซต์ 5.6% อินสตาแกรม (ไอจี) 3.5% แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) 3.3% และไลน์ 2.4% สำหรับประเภทสินค้าที่ได้รับการร้องเรียนมากสุด คือ สินค้าแฟชั่น 23.7% ของใช้ในบ้าน 20.9% อุปกรณ์ไอที 18.3% อาหารและเครื่องดื่ม 11.7% สินค้าประดับยนต์ (อุปกรณ์) 6.8% ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายที่มีการร้องเรียน 3 อันดับแรก อยู่ในช่วงราคา 1,001-2,000 บาท ตามมาด้วย 501-1,000 บาท และมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าราคาหลักหมื่นส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทไอที เช่น โทรศัพท์มือถือโดยประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหา แจ้งเบาะแส หรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาออนไลน์ ได้ผ่านช่องทางการติดต่อ ดังนี้ สายด่วนโทร. 1212 อีเมล์ [email protected] เว็บไซต์ 1212OCC.com เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC และสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ เราหวังว่าการทำงานบูรณาการของภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม จะสามารถคุ้มครองประชาชนให้ใช้งานในระบบดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในอนาคต