“สิทธิของเราทุกคนนั้นมีอยู่ตามกฎหมาย เสรีภาพของเราทุกคนนั้นมีอยู่ในใจแต่สิทธิและเสรีภาพเป็นของละเอียด ของสูง จะใช้ก็ต้องระมัดระวัง มิฉะนั้นจะแตกหักสึกหรอได้ง่าย”( คึกฤทธิ์ ปราโมช)
“มนุษย์ปุถุชนเรานั้นย่อมมีกิเลสตัณหาต่างๆ กัน ถ้าหากว่าสามารถกระทำการใดๆ ได้โดยปราศจากข้อห้าม กิเลสตัณหานั้นเองก็จะเป็นเครื่องบังคับการกระทำ และการกระทำที่ไม่มีใครห้ามนั้น จะถือว่าเป็นการกระทำที่ดีไม่ได้
ถ้าหากว่าเสรีภาพหมายถึงการกระทำตามกิเลสตัณหา โดยไม่มีใครห้ามแล้ว เสรีภาพเช่นนั้นก็คงจะก่อให้เกิดความยุ่งยากและความเสียหายแก่ชีวิตของตนและชีวิตของคนอื่นอยู่เสมอ”(คึกฤทธิ์ ปราโมช)
ในบรรยากาศประเทศไทยที่ผ่านมา ดูเผินๆเหมือนผู้คนจะตื่นตัวเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รวมทั้งในวงการสงฆ์ เป็นที่ถกเถียงและขบคิดกันทั้งในทางทฤษฎีและข้อปฏิบัติต่างๆ ถึงขอบเขตของความเหมาะสมและพอดี
ในภาวะที่เสรีภาพเบ่งบาน ได้เกิดเมล็ดพันธุ์ใหม่ขึ้นของการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ ในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกร้องความสนใจและทำให้เกิดปฏิกิริยาจากผู้เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง มีนักเรียนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ครูอนุญาตให้หยุดเรียนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเตรียมตัวสอบและผ่อนคลายจากความตึงเครียด ซึ่งทางครูก็ยินยอมโดยขอให้มาเรียนชดเชย 1 สัปดาห์หลังการสอบผ่านพ้นไปเพื่อให้ได้เนื้อหาการเรียนรู้ครบถ้วนตามหลักสูตร แต่กลุ่มนักเรียนไม่พอใจในข้อตกลงนี้ จึงรวมตัวกันทำหนังสือถึงผู้อำนวยการกดดันครูให้อนุญาตตามในสิ่งที่พวกตนร้องขอ แม้บทสรุปจะไม่เป็นไปอย่างที่กลุ่มนักเรียนปรารถนา แต่เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมและบ้านเมืองนี้ต้องหันมาให้ความสนใจและคิดอ่านกัน ต่อเมล็ดพันธุ์นี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่ออนาคตของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยที่ทำตามอำเภอใจโดยมองข้ามกติกา
เพราะสิทธิและเสรีภาพหากใช้เกินพอดีหรือขอบเขตแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ คนรอบข้าง สังคมและที่สุดจะย้อนกลับมาที่ตัวสิทธิเสรีภาพเองที่จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ไป หากถึงวันนั้นก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตย
เป็นข้อคำคำนึงในวันรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย รับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย