สมบัติ ภู่กาญจน์ หนึ่งปีก่อนที่จะถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ผู้ที่ ‘รู้’ และมี ‘ประสบการณ์’ อย่างอาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ย่อมจะต้องมี ‘ความรู้สึก’กับความไม่ปกติบางอย่าง ที่กำลังเริ่มส่อเค้าขึ้นในบรรยากาศของสังคมไทย เพราะฉะนั้น ในบทความประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2515 อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนเพิ่งจะผ่านวาระครบหกสิบปีมาได้หนึ่งปี จึงมีข้อความดังต่อไปนี้ปรากฎขึ้น คนเรา ถ้าอยู่ดีๆ เกิดจับไข้ขึ้นมาเฉยๆ หรือหัวไหล่ขัดไปข้างหนึ่ง หรือหน้ามีดเวียนศีรษะ หรือมือบวมเท้าบวม หรือปวดที่ชายกระเบนเหน็บ หรือเป็นฝีขึ้นที่กลางหลังบ่อยๆ ก็ย่อมจะแสดงว่า ร่างกาย อันเป็นส่วนรวมนั้นเริ่มจะมีอะไรผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ หรือไม่สบายเท่าที่ควรจะเป็น ถ้ามัวไปแก้ปัญหาด้วยการกินยาแก้ไข้ หรือรักษาเฉพาะตรงที่เจ็บปวด อาการเจ็บปวดนั้นก็อาจจะหายไปเพียงชั่วครั้งชั่วครู่ แต่โรคสำคัญที่มีอยู่ในตัว ก็คงจะยังมีต่อไป ไม่รักษาเสียให้หายขาด ก็อาจล้มเจ็บหนักจนถึงตายได้ (ขออนุญาตหมายเหตุแทรกครับ ว่า นี่คือ‘ข้อเขียน’ง่ายๆ ที่ไม่ว่าใครก็อ่านได้ เพราะไม่ใช่เรื่องซีเรียสหนักหน่วงประเภทจะซัดใครหรือวิพากษ์วิจารณ์ใคร แต่ตรงกันข้าม เรื่องอย่างนี้กลับเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ทุกคนรับรู้และสามารถจะอ่าน เพื่อชวนให้ติดตามได้ง่ายว่าผู้เขียนจะพูดถึงอะไรต่อไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ชีวิตผ่านวัยหนุ่มสาวจนเลยวัยกลางคนมาแล้ว การรู้จักสังเกตอาการผิดปกติในร่างกายไว้บ้างอย่างนี้ ในแวดวงการรักษาสุขภาพสมัยใหม่ เขาถือว่าเป็นการดูแลตัวเองที่มีประโยชน์ มากกว่าการประมาทปล่อยความผิดปกติให้เกิดขึ้นมากจนต้องไปหาหมอรักษา ซึ่งจะเจอค่าใช้จ่ายในการเยียวยาที่หนักกว่าอาการของโรคอีกหลายเท่า เพราะฉะนั้นเรื่องใกล้ตัวอย่างนี้ จึงเป็นแรงจูงใจแรกที่ผู้เขียนจะทำให้คนติดตามอ่านด้วยความอยากรู้ได้ว่า แล้วผู้เขียนจะนำเสนออะไรต่อไป ซึ่งวิธีการเขียนหนังสือเช่นนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ได้ใช้ความสามารถทำมาตลอดชีวิต - ที่ทุกวันนี้ ค่อนข้างจะหาผลงานการเขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคมร่วมสมัยในยุคนี้และในแนวนี้ได้ยากเย็นมากขึ้น - ผมจึงขออนุญาตแทรกข้อสังเกตไว้เป็นเบื้องแรก ก่อนที่จะติดตามว่า ผู้เขียนจะพูดถึงอะไรต่อไป ) ผมเองในปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น แต่ผมรู้ ว่าผมเป็นอะไร โรคใหญ่ของผมก็คือความชรา เพราะอายุล่วงเลยหกสิบปีมาแล้ว มันก็ต้องเจ็บไข้กันบ้าง ถึงคราวจะตาย ก็ต้องตาย ไม่เป็นไร แต่ เหตุที่ผมออกจะตายไม่ลงในขณะนี้ ก็คือ ผมสังเกตเห็นว่า ร่างกายส่วนรวมของเรา คือบ้านเมืองของเรานั้น ก็เริ่มจะมีอาการอย่างนี้ ประเดี๋ยวคนงานก็นัดหยุดงาน ประเดี๋ยวก็ฆ่ากันตายในที่สาธารณะอย่างอุกอาจ เหมือนกับว่าบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป มหาวิทยาลัย พอเปิดเรียนเข้าก็ต้องปิดไปอีก เพราะนักศึกษาตีกัน (สังคมไทยยุคปีพ.ศ.2515 เรื่องเหล่านี้ ซึ่งไม่เคยจะมีมาก่อน ก็นับว่าเป็นอาการที่ไม่ค่อยปกติเกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านที่ไม่เคยผ่านยุคนี้โปรดใช้จินตนาการด้วยว่าอดีตกับปัจจุบันนั้นต่างกันแน่ แต่สาเหตุแห่งปัญหาคือสิ่งเดียวกัน การหาต้นเหตุแห่งปัญหาให้พบ คือธรรมะที่ศาสนาพุทธสอนคนมาแล้วนานกว่าสองพันห้าร้อยปี) และในเวลาต่อไป จะต้องขัดยอกเมื่อยปวด และจับไข้จับหนาว เป็นฝีเป็นหนองกันอย่างไรต่อไปอีก ก็ไม่สามารถจะเดาได้ เรื่องเหล่านี้ ถ้ามองผ่านๆในแต่ละเรื่อง ก็อาจจะเห็นเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าจะมองในฐานะเป็นโรคเล็กโรคน้อย ซึ่งบอกอาการโรคใหญ่ หรือเตือนว่าร่างกายจะมีอะไรผิดปกติแล้ว ก็น่าจะสังวรกันไว้ให้จงดี เป็นไปได้หรือไม่ ว่า ความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะเป็นอาการบอกให้รู้ว่า ร่างกายอันเป็นส่วนรวมของเรานั้น กำลังจะไม่ปกติขึ้นมา สาเหตุที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรนั้น ผมไม่ทราบ แต่เท่าที่สังเกตดูด้วยตาและด้วยหูของผมเอง ผมเข้าใจว่า คนทั่วไปในเมืองไทยทุกวันนี้ มีความตึงเครียดมากกว่าที่เคยเห็นมาแต่ก่อน ถูกละครับ ชีวิตกำลังผันแปรไปอย่างรวดเร็ว การทำมาหากินก็ฝืดเคืองขึ้นกว่าแต่ก่อน บ้านเมืองก็กำลังพัฒนา คนส่วนใหญ่ปรับตัวเข้ากับการพัฒนากันไม่ทัน หรือมีความโสโครกสกปรกในสิ่งแวดล้อมทั่วไป สิ่งเหล่านี้ อาจจะเป็นสาเหตุด้วยก็ได้ ผมไม่เถียง แต่เหตุสำคัญอีกเหตุหนึ่งนั้น อาจมาจาก ความไม่แน่ใจของคนทั้งปวงในระบอบการปกครองที่อยู่เบื้องบน ไม่แน่ใจว่า จะมาอย่างไร และจะเป็นอย่างไรกันต่อไป.......... เริ่มจะเข้าประเด็นที่นำเสนอแล้วละครับ และบรรยากาศก็ชักจะใกล้หูใกล้ตากับสิ่งที่เราประสบพบเห็นอยู่ในเมืองไทยยุคนี้มากขึ้นด้วย แต่เนื้อที่ของผมหมดเสียก่อน ต้องขอเชิญติดตามต่อไปในตอนหน้าครับ