แม้จะไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายที่ไทยจะพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเช่นเดียวกับหลายประเทศ ด้วยการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่าความจริงแล้วสายพันธุ์โอไมครอนได้หลบซ่อนกระจายในหลายท้องที่ เพราะไม่ได้มีการตรวจสายพันธุ์ในผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศให้โควิดสายพันธุ์ โอไมครอน เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เนื่องจากพบการกลายพันธุ์จำนวนมากกว่า 50 ครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้ไวรัสมีการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น อาจจะมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น หรือต้านทางวัคซีนที่มีการใช้กันอยู่ได้ แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ขณะนี้มีการรายงานพบสายพันธุ์โอไมครอนใน 46 ประเทศ ล่าสุด ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 47 ซึ่งต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มที่มีการติดเชื้อภายในประเทศ เช่น แถบแอฟริกาใต้ และกลุ่มที่พบการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยไทยที่พบรายแรกเป็นผู้เดินทางเข้ามา เป็นนักธุรกิจชายอเมริกันอายุ 35 ปี อาศัยอยู่สเปน มีผลตรวจ RT-PCR วันที่ 28 พฤศจิกายน ไม่พบเชื้อ เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่29 พฤศจิกายน เมื่อมาถึงได้ตรวจอีกครั้ง พบเชื้อวันที่ 1 ธันวาคม เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เบื้องต้นแทบไม่มีอาการ จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ติดเชื้อมีการระมัดระวังตัวเองสูง ใส่หน้ากากตลอดเวลา ขณะนั่งเครื่องบินไม่ได้นั่งติดกับคนข้างๆ จึงไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ได้สอบสวนโรคผู้ที่เคยมีประวัติพบกับผู้ติดเชื้อรายนี้ทุกคนและตรวจสอบหาเชื้อ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมและจะติดตามจนครบระยะการฟักตัวของโรค “ข้อมูลที่มีขณะนี้ สายพันธุ์โอไมครอนจะแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้ายไข้หวัดใหญ่ แยกยากจากสายพันธุ์อื่น ผู้ติดเชื้อในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ดังนั้น มาตรการป้องกันคือ ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยฉีดแล้ว 95 ล้านกว่าโดส เข็มที่ 1 ครอบคลุมคนไทยเกิน 75% เข็มที่ 2 เกิน 60% ส่วนผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ขอให้รอการประกาศแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขให้มารับเข็มกระตุ้น ซึ่งคาดว่าช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 จะเร่งฉีดกระตุ้นให้มากที่สุด” ส่วนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมีเสียงสะท้อนจาก นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่าไม่อยากให้ทุกฝ่ายต้องตื่นตระหนก จนถึงขนาดต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เนื่องจากหากมีการปิดประเทศอีก เศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จะกลับมาช็อค จะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นการปิดประเทศ ไม่ถือเป็นการตอบโจทย์แล้ว ต้องหาวิธีที่ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าติดตามสถานกาณ์กันอย่างใกล้ชิดและประเมินสถานการณ์หน้างาน ว่าจะสามารถจำกัดวงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเอาไว้ได้หรือไม่ โดยที่ไทยจะยังคงมาตรการเดิมหรือเพิ่มเติมเพื่อความเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยที่ยังจะสามารถฉลองเทศกาลปีใหม่กันได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นควาดหวังของประชาชนทุกคน