ทวี สุรฤทธิกุล “เป็นนักการเมืองต้องพร้อมอยู่เสมอ พรุ่งนี้มะรืนนี้จะเกิดอะไรขึ้นก็เดาไม่ได้” ประโยคข้างต้นนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคุณชวน หลีกภัย ในชุดลูกเสือสามัญ ยกแขนขวาขึ้นแล้วงอข้อศอกทำมุมฉากกับลำตัว ชูนิ้วขึ้นสามนิ้ว แล้วกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือสามัญว่า “จงเตรียมพร้อม” ซึ่งผู้เขียนเคยเห็นคุณชวนในภาพนี้ น่าจะเป็นในสมัยที่คุณชวนเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใส่ชุดลูกเสือไปในงานวันลูกเสือแห่งชาติ แต่ที่ต้องนำประโยคนี้มาขึ้นต้นบทความวันนี้ก็เพราะเป็นคำตอบที่ผู้เขียนได้ถามคุณชวนว่า “ทราบว่าจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมไหมครับ?” การสนทนาในวันนั้นเป็นไปอย่างอบอุ่น แม้อากาศจะทึม ๆ เพราะข้างนอกก็มีเมฆครึ้ม และในตัวอาคารก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่ด้วยการต้อนรับที่เป็นกันเอง พร้อมกับกาแฟ ชาจีนร้อน น้ำเย็น ขนมเกลียวสอดไส้ครีม กับผลไม้จานเล็ก ๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ร่วมสนทนารู้สึกสุขสบาย แต่ที่ผู้ร่วมสนทนาสุขสบายยิ่งกว่า ก็ด้วยท่าทีของคุณชวนที่ผ่อนคลายมาก ๆ ถ้อยคำล้วนแต่เป็นไปในแนวของคนที่มองโลกในแง่ดี ให้ความหวังและมีทางออกในทุกเรื่อง ทำให้ผู้เขียนต้องอ้อม ๆ ถามว่า คุณชวนมียาดีอะไร จึงดูมีสุขภาพดีมากและจิตใจดูมีความสุขมาก ๆ ซึ่งคุณชวนก็ตอบว่า ท่านออกกำลังกายทุกวัน หรือเกือบทุกวันเท่าที่จะเป็นไปได้ ทานอาหารปกติธรรมดาวันละสามมื้อ และพักผ่อนนอนหลับตามเวลา รวมถึงการทำสมาธิและทำจิตใจให้สบาย โดยบอกว่าการที่เคยเป็นเด็กวัดทำให้เคยชินกับการใช้ชีวิตแบบนี้ คือมีระเบียบวินัยและฝึกฝนตนเอง คุณชวนบอกว่ายังใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ บ้านที่จังหวัดตรังก็ยังเป็นสถานที่รับรองผู้คนแขกไปใครมาที่คิดถึงคุณชวน ที่ในสมัยก่อนคุณแม่ถ้วน หลีกภัย ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะออกมาต้อนรับแขกเหรื่อด้วยตัวเองทุกวัน แต่เมื่อไม่มีคุณแม่แล้ว คุณชวนก็ต้องทำหน้าที่นี้เองเพียงลำพังเช่นแต่ก่อนต่อไป คุณชวนบอกอีกว่าสมัยนี้อาจจะไม่ต้องหาเสียงเหนื่อยยากเหมือนก่อน ๆ เพราะมีการใช้สื่อสมัยใหม่ต่าง ๆ เข้ามาช่วย แต่ก็คงสู้การหาเสียงแบบเก่า ๆ ได้ คุณชวนยังต้องออกพบปะชาวบ้าน เดินตามตลาดและชุมชน ไปงานวัดงานบุญงานศพ และงานตามประเพณีต่าง ๆ ไม่ให้ขาด แต่ตั้งแต่ที่คุณชวนได้กลายมาเป็นผู้อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องออกช่วยงานต่าง ๆ ของลูกพรรคและผู้มีอุปการคุณของพรรค แทบจะไม่มีเวลาว่าง แต่กระนั้นคุณชวนก็ดูจะมีความสุขมาก ๆ ตามไปด้วย กับงานสังคมและงานการเมืองที่แทบจะไม่ได้มีเวลาหายใจนั้น คนที่ติดตามทำงานของคุณชวน น่าจะพอสังเกตเห็นว่าคุณชวนเป็นคนที่มีหลักการมาก ๆ โดยเฉพาะการเคารพกฎหมายและกติกาต่าง ๆ ทั้งนอกและในสภา จะเห็นว่าในตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ ของคุณชวน ตั้งแต่ที่เป็น ส.ส.หนุ่ม ๆ มาจนถึงรัฐมนตรี ประธานสภา และนายกรัฐมนตรีนั้น ท่านระมัดระวังเป็นอย่างมากกับการทำนอกกติกา ที่คนทั้งหลายเรียกว่า “การทุจริต” จนเราแทบจะไม่พบว่าคุณชวนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องมัวหมองต่าง ๆ แม้ว่ารอบตัวท่านจะเต็มไปด้วยเรื่องราวเหล่านั้น ถึงกับในสมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีคนตั้งฉายาท่านว่า “ชวนเชื่องช้า” แต่นั่นก็เป็นลีลาการทำงานของท่าน ซึ่งถ้าจะวิเคราะห์ไปก็คงเป็นเรื่องของความรอบคอบและชัดเจน อย่างที่ท่านชอบตอบคำถามด้วยคำตอบว่า “ผมขอไปศึกษาก่อน” จนถึงขั้นคอลัมนิสต์บางคนบอกว่า ท่านคงมีสุภาษิตประจำใจว่า “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” แต่บางคนก็อดจะกระแนะกระแหนไม่ได้ว่า “เห็นไม้งามเมื่อขวานบิ่น” เมื่ออดใจคอยกับความสุขุมลุ่มลุกแบบคุณชวนนั้นไม่ได้ ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในวงวิชาการทางรัฐศาสตร์ ก็มีมุมมองเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าที่จริงแล้วคุณชวนเป็น “นักประชาธิปไตย” เอามาก ๆ เพราะมักจะรู้จิตรู้ใจของคนหมู่มาก และพยายามที่จะโน้มนำไปในแนวที่คนหมู่มากนั้นต้องการ ดังตัวอย่างที่เห็นการทำหน้าที่ของท่านตำแหน่งประธานรัฐสภา ที่ท่านไม่ชอบวิธีการแบบ “กำปั้นทุบดิน” แต่มักจะใช้ “น้ำเย็นเข้าลูบ” อย่างล่าสุดในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ในญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอเกี่ยวกับกรณีขบวนเสด็จของพระราชินี ซึ่งคุณชวนก็พยายามที่จะให้ทั้งสองฝ่ายหาวิธีตกลงกันเอง แต่คงจะเป็นด้วยคุณชวนคงจะรู้ว่า “หวยงวดนี้จะออกอะไร” คุณชวนจึงให้ฝ่ายที่ต่อต้านญัตติได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายที่เสนอญัตติเสียหน้า เรียกว่า “วิน - วิน” ด้วยกันทุกฝ่าย ซึ่งถ้าเป็นประธานคนอื่น เหตุการณ์วันนั้นคงจะ “เละเทะ” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นบ่อย ๆ อย่างที่บอกว่าคุณชวนเป็นคนมองโลกในแง่ดี ดังนั้นพอถามถึงการเมืองของประเทศไทยในอนาคต คุณชวนก็บอกว่าไม่มีอะไรน่าห่วง มันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่สำคัญจะต้องทำให้คนทั้งหลายเป็นคนดี อย่างน้อยก็เป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต อย่างโครงการบ้านเมืองสุจริตที่คุณชวนริเริ่มขึ้น ก็เพื่อให้การศึกษาอบรมแก่เยาวชนในการที่จะทำดีเพื่อตนเองและบ้านเมือง พอคุณชวนพูดถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็นึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผู้เขียนเคยทำงานเป็นเลขานุการของท่านในช่วง พ.ศ. 2520 - 2532 ตอนนั้นท่านไปพูดให้นักศึกษาฟังที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอนท้ายมีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังถามปัญหา ก็มีผู้ปกครองของนักศึกษาที่มาร่วมฟังด้วยถามขึ้นว่า “เราจะหวังอนาคตของบ้านเมืองในมือคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ตอบว่า “อย่าห่วงไปเลย สมัยเราเป็นเด็ก ๆ พ่อแม่ก็ห่วงเราอย่างนี้ ดูสิบ้านเมืองก็ยังอยู่รอดมาได้จนป่านนี้ และมันก็ดีกว่าที่เราเคยอยู่แต่ก่อนเสียอีก อาหารการกินก็ดีกว่า ชีวิตก็สะดวกสบายกว่า ไม่มีใครอยากจะอยู่อย่างทุกข์ยากลำบากหรอก ลูก ๆ เรานี่แหละที่จะทำให้โลกในวันข้างหน้าดีขึ้น” เช่นเดียวกันคนที่ผ่านโลกมามากอย่างคุณชวน ก็คงมองโลกอนาคตด้วยความปล่อยวาง เหมือนเช่น “ผู้ช่ำชองชีวิต” ทั้งหลาย