ทีมข่าวคิดลึก ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการกดดันจาก "ฝ่ายการเมือง" ไปจนถึงกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษาและองค์กรต่างๆ ที่พุ่งตรงไปยัง "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" ตลอดจน"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" เพื่อขอให้มีการเปิดพื้นที่เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะต้องเข้าสู่การลงประชามติ กันอย่างเต็มที่นั้น กลับปรากฏความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และกำลังจะกลายเป็น "ชนวน" ที่ทำให้บรรยากาศการเมือง ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น! เมื่อวันนี้ต้องยอมรับว่าการเปิดพื้นที่ เปิดเวทีให้มีการแสดงความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทั้งที่รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่มีความจำเป็นอีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีขึ้นโดยฝ่ายใดก็ตาม เพราะเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติจะต้องเข้าคูหา เพื่อตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย" และ "คำถามพ่วง"ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว แม้กกต. หรือกระทรวงมหาดไทย จะออกมาส่งสัญญาณสนองต่อเสียงเรียกร้องโดยเตรียมการให้จัดเวทีเสวนาได้ในจังหวัดต่างๆ ก็ตาม ทว่าอาจเป็นเพียงการลดความร้อนแรง ลดโทนของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นขณะเดียวกัน ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีกลุ่มนักวิชาการนักศึกษา และองค์กรต่างๆ ได้พากันจัดเวทีเสวนาจนปรากฏเป็นข่าวอย่างชัดเจนว่า กลุ่มไหน หรือใคร ที่ได้ประกาศจุดยืน "ไม่รับร่างฯ"กันไปบ้างแล้วดังนั้นหลักใหญ่ใจความวันนี้ จึงไม่ได้อยู่เพียงแค่การเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่มีภาพเหตุการณ์การเคลื่อนไหวโดยเสรี ของกลุ่มต่างๆ ปรากฏเป็นข่าวอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีจังหวะการเคลื่อนไหวของ คสช. ในห้วงเวลานี้ต่างหากที่น่าสนใจและต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่งเพราะภาพที่เห็นอยู่ฉากหน้า คล้ายกับว่า คสช.-กรธ.และรัฐบาล ต่างกำลังเผชิญหน้ากับ "ฝ่ายต่อต้าน" ที่ต้องการ "คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ" มิหนำซ้ำในหลายพื้นที่ยังมีการก่อเหตุสร้างความวุ่นวายด้วยการฉีก-ทำลาย-ไปจนถึงการขโมย รายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ ขณะเดียวกันได้มีการสนธิกำลังกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ในพื้นที่บุกเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน นั่นหมายความว่า คสช. เดินหน้าเข้มงวดกระชับพื้นที่ในจุดเป้าหมายทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน อย่างจงใจโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีความเชื่องโยงกับพรรคเพื่อไทย และจังหวัดบ้านเกิดของคนในตระกูลชินวัตร หากแต่ขณะเดียวกัน คสช.กลับ "ผ่อนปรน"ให้กับกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษาและองค์กรต่างๆ ใน กทม. ให้จัดเวทีเสวนากันได้อย่างคึกคัก ทั้งนี้เป็นเพราะ คสช. เชื่อว่านอกจากจะสามารถ "เอาอยู่" ได้อย่างแน่นอนแล้ว อีกด้านหนึ่ง ต้องยังน่าสนใจว่า เวลานี้ "กระแส" ของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กำลังทวีความเข้มแข็งมากขึ้นทุกขณะ ทั้งด้วยในฐานะที่เป็น "ฝ่ายกำหนดเกม" การเล่น ในสนามประชามติรอบนี้ ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ก็ตาม หัวหน้า คสช. ก็ยังคง "อยู่ยาว" ไปจนถึงปลายปี 2560 จนมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะแตกต่างกันก็เพียงว่า หากร่างฯผ่านประชามติ"พลัง" ของบิ๊กตู่ ก็จะเข้มแข็งมากขึ้นแต่หากไม่ชนะในสังเวียนประชามติก็อาจจะต้องเผชิญหน้ากับแรงต้านที่ "เขย่า" แต่ คสช.ก็จะไม่ถึงขั้น ร่วงหล่นจากต้นไม้แห่งอำนาจอยู่ดี และเมื่อมองไปยังสองพรรคใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เองแม้จะมีความพยายาม พลิกเกมเล่นเพื่อหาทางสร้าง "อำนาจต่อรอง" ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าในหมากบังคับรอบนี้ ยิ่งกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์โดดเด่น มากเท่าใด เพาเวอร์ของฝ่ายการเมืองก็มีแต่จะยิ่งถูกลดทอนลงมากเท่านั้น !