เสือตัวที่ 6
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) โดยเฉพาะ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. นั้น เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนหรือแปลงนโยบายจากส่วนกลางไปสู่การปฏิบัติให้เกิดมรรคเกิดผลกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น บทบาทสำคัญของ อบต. ก็คือการนำความทุกข์ยากและความต้องการที่เกินกำลังของตน มาสู่หน่วยงานท้องถิ่นที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยงานราชการในระดับภูมิภาค เพื่อการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนคนรากหญ้า และการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง หากองค์กรปกครองท้องถิ่นนี้ มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ก็จะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ได้ในทุกเรื่อง เพราะองค์กรท้องถิ่นในลักษณะนี้ มีกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง และที่สำคัญยิ่งก็คือ องค์กรปกครองท้องถิ่นนี้ เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุด แต่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงเป็นที่รับรู้ว่า คนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากคนในท้องถิ่นเหล่านั้น ย่อมเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และเชื่อว่า เป็นบุคคลที่ทรงบารมีในการนำความคิดของคนในพื้นที่ในระดับที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยอมรับนับถือและเชื่อฟัง
ด้วยการได้มาซึ่งผู้นำระดับ อบต.นั้น ก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) แต่ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างการเลือกตั้ง ส.ส. คนเป็นผู้นำที่เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือนายกเทศบาลระดับต่างๆ ตลอดจนสมาชิกสภาองค์กรปกครองท้องถิ่นเหล่านั้นทั้งหลาย จึงต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับนับถือในความเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยบารมีที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องเดินตาม
นอกจากนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เหล่านี้ ยังทรงพลังในด้านการขับเคลื่อนงานหลากหลายในท้องถิ่น ด้วยเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมากที่สามารถดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย ซึ่งแหล่งที่มาของงบประมาณนั้น มาจาก 4 แหล่งสำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ รายได้ที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้ และภาษีที่แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง ซึ่งงบประมาณในแต่ละปีเหล่านั้นมีจำนวนไม่น้อยที่สามารถนำมาแก้ปัญหา และพัฒนาในหลากหลายด้านเพื่อคนในท้องถิ่นเองที่เชื่อมโยงกับงบประมาณจากรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ ในปีที่ผ่านมา อบต. ที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศคือ อบต.บางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ มีรายได้ 638 ล้านบาท ขณะที่ อบต.แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช แม้จะมีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศ แต่ก็มีมากถึง 15.91 ล้านบาท และหากคิดเป็นค่าเฉลี่ยของ อบต. ทั้ง 5,300 แห่ง พบว่ามีรายได้เป็นงบประมาณอยู่ที่ 45.70 ล้านบาท
จากข้อมูลสำคัญที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยข้อมูลพบว่า ในจำนวนผู้สมัครชิงเก้าอี้นายก อบต. 12,309 คน เป็นนายกฯ เดิม 2,811 คน หรือคิดเป็น 22.84% ของผู้สมัครทั้งหมด แต่ถ้าเทียบกับจำนวน อบต. ที่มีทั้งหมด 5,300 แห่ง จะคิดเป็นจำนวน 53.03% ส่วนผู้สมัครหน้าใหม่มีทั้งสิ้น 9,498 คน หรือคิดเป็น 77.16% ของผู้สมัครทั้งหมด นั่นวิเคราะห์ได้ว่า แม้คนหน้าเดิมที่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นในระดับ อบต. มีสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มคนหน้าใหม่ หากแต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้สมัครหน้าเดิม ก็น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลในท้องถิ่นไม่ใช่น้อย ในขณะที่กลุ่มคนหน้าใหม่ที่เข้ามา ก็น่าจะเป็นผู้ทรงบารมีกลุ่มใหม่ในท้องถิ่นที่น่าจับตามองไม่ใช่น้อย เพราะคนทั้งสองกลุ่มนี้ ในท้ายที่สุด ทั้งนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. ที่เพิ่งจะได้มาหลังเลือกตั้ง 28 พ.ย. ก็ล้วนแล้วจะเป็นกลุ่มคนที่เป็นที่ยอมรับ ที่มีบารมีน่าเชื่อถือของผู้คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั่นเอง
และในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย ก็อยู่ในร่มเงาของความเป็นจริงที่กล่าวมาข้างต้น หน่วยงานความมั่นคงระดับชาติ จึงควรตระหนัก และเล็งเห็นความสำคัญของกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ท้องถิ่นชายแดนใต้ ซึ่งมีการจัดให้มีการเลือกตั้งคนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาใน 28 พ.ย.64 แล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่ทรงบารมี มีความเคารพเชื่อฟัง เป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ห่างไกลเฉกเช่นชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นลักษณะเฉพาะของชุมชนท้องถิ่นที่คนในท้องถิ่น มีความรู้จักมักคุ้น สนิทสนมกันเป็นอย่างดี ดังนั้น บุคคลที่ถูกเลือกขึ้นมา จึงเป็นบุคคลที่พวกเขาเคารพนับถือ และเชื่อฟัง ยอมรับให้เป็นผู้นำที่ชาวบ้านในพื้นที่พร้อมที่จะเดินตาม
หน่วยงานของรัฐในทุกระดับ จึงควรนำพาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จชต.เหล่านั้น เข้าร่วมการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มา เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะ อบต. เป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญ อันใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด จึงทรงพลังในการเชื่อมโยงความเข้าใจ ร่วมมือกันระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่น ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการแก้ปัญหาค้างคาใจทั้งหลายให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้นำและกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นคนในท้องถิ่นเอง พวกเขาจึงเข้าใจปัญหา รู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีใน การปฏิบัติให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถเข้าถึงพี่น้องในท้องถิ่นได้ดีกว่าหน่วยงานราชการจากส่วนกลางและภูมิภาค
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า การน้อมนำความคิด ความเข้าใจให้เกิดร่วมกันระหว่างผู้นำท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ในภาระหน้าที่ที่จะต้องสานประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายในทุกมิติ ทั้งการเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น เศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจปากท้องในพื้นที่ ตลอดจนการศึกษา ความเชื่อ วิถีชีวิต และด้านความสงบเรียบร้อยในแง่มุมของความมั่นคงของชาติโดยรวมเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องในท้องถิ่นนั้น แต่ละฝ่าย จะเปิดใจ เปิดโอกาสให้เกิดเวทีในการพูดคุยเพื่อนำพาการสนองความต้องการของทุกฝ่ายแบบ WIN-WIN ให้เกิดเป็นรูปธรรมร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากรัฐตระหนักรู้และพยายามวางย่างก้าวของการน้อมนำความร่วมมือของคนมากบารมีในท้องถิ่นเหลานี้ได้มากเพียงใด ก็จะสามารถนำองค์กรท้องถิ่น มาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา พัฒนาได้ทุกเรื่องแม้กระทั่งในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ด้วยเช่นกัน