รายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า สถานการณ์การว่างงานในไตรมาส 3/ 2564 เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.25% ซึ่งอัตราว่างงานอยู่ที่ 5% โดยพบว่าผู้ที่มีการว่างงานสูงสุด 3.63% เป็นผู้ที่มีศึกษาระดับอุดมศึกษา รองลงมาเป็น ปวส. 3.16%คาดการณ์การจ้างงานจะลดลงหลังจากรัฐบาลเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง แต่ที่สำคัญ อย่าให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกรอบ หรือให้การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด
ขณะที่หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีแม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง มีมูลค่ากว่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
โดยสาเหตุที่ทำให้หนี้หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาจาก 2 ประการด้วยกัน คือ1. ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
และ 2) ผลกระทบของอุทกภัยทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือพบการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้นโดยในรอบครึ่งปี 2564 พบว่า มีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าจากปัญหาการว่างงานและหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ปัญหาหนี้นอกระบบที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเท่านั้น แต่ยังมีมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสจากปัญหาหนี้สินของประชาชน ด้วยการหลอกลวงให้กู้เงินแล้วไม่ได้รับเงินจริง หรือเงินกู้ดอกเบี้ยโหด ผ่านทางช่องทางต่างๆในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของแอฟพลิเคชั่นต่างๆ ส่งลิงค์ทางเอสเอ็มเอส หรืออีเมลล์ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤติของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ประกอบการต่างๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันกวาดล้างขบวนการเหล่านี้ให้หมดสิ้นโดยเร็ว นอกจากจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และวิธีการป้องกัน แม้ที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการตามกฎหมาย และคาดโทษกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่อาจยังไม่เพียงพอ อาจต้องขยายความร่วมมือและครอบคลุมแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศด้วย