รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ไม่กี่วันที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แถลงเกี่ยวกับภาวะหนี้สินครัวเรือนไทยช่วงไตรมาสที่ 2/64 คิดเป็นมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 89.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งลดลงจาก 90.6% ในไตรมาสก่อน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณหนี้สินครัวเรือนไทยมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับ GDP หนีไม่พ้นสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยว่างงานมากขึ้น จำนวนคนตกงานพุ่งสูงขึ้นแตะ 8.7 แสนคน เมื่อคนไม่มีเงิน แต่ยังต้องกิน ใช้ และต้องผ่อนชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหน้านี้อีก คนไทยจึงจำเป็นต้องก่อหนี้ก้อนใหม่เพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าทั้งเรื่อง “กิน ใช้ และโปะหนี้เก่า” เมื่อพิจารณาถึงประเภทหรือวัตถุประสงค์ของหนี้ที่ก่อสูงสุด 4 อันดับแรกคือ หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (อันดับแรก – 10,935,188 ล้านบาท) หนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ (อันดับ 2 – 4,896,954 ล้านบาท) หนี้เพื่อซื้อหรือเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ (อันดับ 3 – 1,804,120 ล้านบาท) และหนี้เพื่อการศึกษา (อันดับ 4 – 274,601 ล้านบาท) (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx? reportID=891&languag e=TH) นอกจากนี้ การที่จำนวนแหล่งปล่อยเงินกู้ทั้งในระบบ นอกระบบ รวมถึงผู้เล่นใหม่ non-bank ที่มีเพิ่มมากขึ้น คนไทยจึงมีโอกาสเข้าถึงเงินแหล่งเงินกู้ได้ง่ายและสะดวกขึ้น นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 20 ปี (อ่านเพิ่มเติมที่ http://service.nso.go.th/nso/web /article/article_61.html) ผลกระทบสำคัญเมื่อหนี้สินครัวเรือนไทยพอกพูนขึ้น คือความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนลดลงทำให้มาตรฐานการครองชีพต่ำลง เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่วนผลกระทบต่อเนื่องอื่นที่ตามมา เช่น ความเครียด ปัญหาครอบครัว การฆ่าตัวตาย ปัญหาอาชญากรรม การจี้ปล้น ชิงทรัพย์ การประทุษร้ายร่างกาย ฯลฯ และในที่สุดเมื่อปริมาณหนี้เสียมากขึ้นและกระจายเป็นวงกว้างก็จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินและระบบสถาบันการเงินโดยรวม Thomas J. Brock กูรูด้านการเงิน การลงทุน และบัญชี กล่าวว่าในบรรดาสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อการศึกษา บัตรเครดิต และค่ารักษาพยาบาล หนี้อาจควบคุมไม่ได้ก่อนที่คุณจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ว่าหนี้ของคุณจะเกิดจากการตกงาน ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด หรือการใช้จ่ายเกินตัว คุณก็สามารถลดและกำจัดหนี้ให้หมดไปในที่สุด ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น หยุดสร้างหนี้ใหม่ มีวินัยในการออมเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน พยายามชำระหนี้ให้มากที่สุดเพื่อลดเงินต้น เจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอลดดอกเบี้ย หาช่องทางเพิ่มรายได้อื่นพยายามหาทางปิดหนี้ทุกก้อน ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.thebalance.com/start-getting-out-of-debt-960852) เพื่อเป็นการสะท้อนและทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนไทย หรืออีกนัยหนึ่งคือ ‘ภาวะหนี้สินของคนไทย’ ณ วันนี้ ตลอดจนการคาดการณ์ถึงภาวะหนี้สินของคนไทยในอนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง? สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยประเด็นภาวะหนี้สินของคนไทยผ่านข้อคำถามต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ - ท่านมีหนี้สินหรือไม่ กรณีที่ท่านมีหนี้สิ้น มีทั้งหมดประมาณกี่บาท ท่านสามารถชำระหนี้ได้หมดหรือไม่ - ท่านมีหนี้สินประเภทใดบ้าง เช่น การศึกษา รถยนต์/จักรยานยนต์ ที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ฯลฯ - ความเครียดและความวิตกกังวลต่อภาระหนี้สินของท่านอยู่ในระดับใด - พฤติกรรมที่เกิดจาการมีภาระหนี้สินของท่านมีอะไรบ้าง เช่น หาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการหนี้ ทำงานหารายได้เสริม ขอยืมคนรู้จักรอบตัว วางแผนการใช้จ่าย เสี่ยงโชคใช้หนี้ หนีหนี้ คิดสั้นฆ่าตัวตาย ฯลฯ - วิธีการแก้ปัญหาหนี้สิ้นควรทำอย่างไรบ้าง เช่น ปรับโครงสร้างหนี้/อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มค่าแรง ขั้นต่ำ มีวินัยทางการเงิน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ฯลฯ - ท่านคิดว่าใครจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของท่านได้ เช่น ครอบครัว ตัวเอง บริษัทประกัน โรงรับจำนำ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์ ฯลฯ “ภาวะหนี้สินของคนไทย” ณ วันนี้ ดูจะเป็นภัยอันใหญ่หลวงที่ประเทศไทยต้องผจญอย่างหลี่กเลี่ยงไม่ได้ แนวทางที่จะ “เยียวยา” ให้บรรเทาเบาบางลง ไม่ใช่ว่าจะถูกปิดกั้นแบบตายตัว แต่ก็คงต้องพึ่งพาทุกภาคส่วน เพื่อกรุยทางให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ แม้จะยากแสนยาก ก็ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือละครับ...จึงจะรอด !!!