สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทุกแวดวง แม้แต่วงการประกันภัย ที่ก่อนหน้านี้ในช่วงของการแพร่ระบาดระลอกแรกๆ บริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งได้รับความนิยมหรือขายดีมีประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเมื่อมียอดผู้ติดเชื่อจำนวนเพิ่มมากขึ้นและมียอดเคลมจำนวนมาก ซึ่งยอดเคลมเบี้ยประกันเริ่มส่งผลต่อสภาพคล่องการเงินของบริษัทประกันภัยหลายแห่ง โดยมีข้อมูลว่าที่ผ่านมาจ่ายเคลมประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบให้ผู้เอาประกันไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเมินว่าภายในสิ้นปีนี้อาจเพิ่มสูงถึง 42,000 ล้านบาท แตะระดับ 26-30% ของเงินกองทุนทั้งหมดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต จนมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่าบริษัทประกันบางแห่งเสนอทางเลือกให้กับประชาชนปรับเปลี่ยนความคุ้มครอง ซึ่งนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.ได้หารือร่วมกับนายกสมาคมประกันวินาศภัย เกี่ยวกับปัญหาการจ่ายเคลมประกันโควิดชนิดเจอจ่ายจบ โดยเบื้องต้นมีแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันคือ ให้บริษัทประกันเสนอขายประกันโควิดชนิดใหม่ ทดแทนประกันแบบเจอจ่ายจบได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ทำประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับให้เปลี่ยนประกันได้ หากผู้เอาประกันถูกบังคับโดยไม่สมัครใจ สามารถร้องเรียนมายังคปภ.ให้ดำเนินการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าวนายบรรยง วิทยวีระศักดิ์ กูรูวงการประกันและอดีตนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน ได้โพสต์แสดงความคิดเห็น "10 จุดอ่อนที่ทำให้บริษัทประกันโควิดขาดทุนย่อยยับ" ว่า 1. รับประกันภัยที่ไม่มีสถิติอ้างอิง เดิมบริษัทประกันภัยคาดว่า อัตราการติดเชื้อน่าจะประมาณ 500:1 คน จึงประกาศจ่ายทุนประกันกรณีเจอจ่ายจบให้ 200 เท่าของเบี้ยประกันภัย โดยเผื่อส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายและค่านายหน้า ที่เหลือคือกำไร แต่ปรากฏว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มมาเป็น 32:1 คน (ประชากรไทย 65 ล้านคน ป่วย 2 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ 10 เท่า จากกำไรจึงการเป็นขาดทุนทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในเมืองใหญ่ที่สมัครทำประกันโควิดกันมาก มักจะมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าปกติ เช่น ในกรุงเทพ มีอัตราการติดเชื้อถึง 20:1 หรือ 4 แสนคนต่อประชากร 8 ล้านคน(รวมประชากรแฝงแล้ว ประชากรตามทะเบียนราษฎร์มีอยู่ 5 ล้านคน) 2. คนไม่กลัวโรคโควิดจริงจัง เมื่อตอนที่โรคโควิดระบาดใหม่ๆ ความรับรู้ของคนส่วนใหญ่คือ มันเป็นโรคมฤตยู หากป่วยขึ้นมา มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก จึงมีการระมัดระวังป้องกันตัวอย่างดี แต่เมื่อผู้คนได้เรียนรู้ว่ามันเป็นโรคที่ติดต่อกันง่ายก็จริง แต่โอกาสเสียชีวิตมีเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น แถมอาการป่วยจะไม่รุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น จึงทำให้ความระมัดระวังในการป้องกันตัวลดน้อยลง บางคนถึงกับคิดเลยเถิดไปว่า ถ้าป่วยก็ไม่เป็นไร ได้เงินใช้ฟรีๆ เลยทำให้ไม่ใส่ใจป้องกันกันเท่าที่ควร การติดเชื้อเลยมากกว่าปกติ 3. ไม่มีการจำกัดจำนวนกรมธรรม์ต่อบุคคล ตามหลักการรับประกันภัย ต้องพยายามไม่ให้ทุนประกันเกินกว่าความเสียหายที่ลูกค้าได้รับ ไม่เช่นนั้นจะจูงใจให้ลูกค้ายอมเสียหายเพื่อรับเงินตอบแทนที่สูงกว่า ในกรณีโรคโควิด ความเสียหายนั้นต่ำ เพราะอาการไม่รุนแรง แถมรัฐบาลยังประกาศออกค่ารักษาพยาบาลให้ฟรีทั้งหมด จึงทำให้ต้นทุนของผู้ป่วยบางคนแทบเป็นศูนย์ แต่เขาเหล่านั้นสามารถซื้อกรมธรรม์โควิดกี่บริษัทก็ได้ บางคนซื้อประกันเจอจ่ายจบถึง 8 บริษัท จึงมีแรงจูงใจให้ไม่ระมัดระวังในการดูแลตนเอง หรืออาจจะจูงใจให้ติดเชื้อเพื่อให้ได้รับเงินสินไหมสูงๆก็มี 4. เชื้อไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่กลายพันธุ์ได้ง่าย เชื้อโควิดเป็นไวรัสชนิดหนึ่ง จึงกลายพันธุ์ได้ง่าย และกลายพันธุ์ไปในทางที่ทำให้ติดเชื้อในมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่บริษัทประกันภัยคาดไม่ถึง เพราะในอดีตที่ผ่านมา การรับประกันอาการเจ็บป่วยต่างๆ ก็ไม่มีสถิติที่ผันผวนขนาดนี้ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียไม่กลายพันธุ์ได้ง่ายเท่ากับเชื้อไวรัส ส่วนเชื้อไวรัสอื่นที่กลายพันธุ์ เช่น ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่มีอาการรุนแรงมาก จนมีการประกันภัยเฉพาะเหมือนโรคโควิดนี้ อ่านต่อฉบับหน้า