แม้สำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะรายงานภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 3/2564 ขยายตัวติดลบ 0.3% จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพีรวม 9 เดือนของปี 2564 ขยายตัวอยู่ที่ 1.3% ส่วนจีดีพีทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.2% ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ พร้อมทั้งคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ ไทยปี 2565 ว่าจีดีพีจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5%
อย่างไรก็ตาม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังมั่นใจว่าปี 2564 เศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 1% แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะไม่ได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจหลายตัวยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะภาคการส่งออก ส่วนการท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นหลังจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคาดการณ์ว่าศรษฐกิจปี 2565 จะเติบโตที่ 4% จากภาคการส่งออก โดยเฉพาะสิน ค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 3.7-4 ล้านล้านบาท มาจากงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลืออีกกว่า 3 แสนล้านบาท และการลงทุนของรัฐ วิสาหกิจอีกกว่า 3 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีเครื่องยนต์ใหม่ที่จะช่วยสร้างอัตราการเติบโตให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าและระยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนในอีอีซี ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ 12 อุตสาหกรรม จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาเสนอแนะว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรจะทำเพิ่มเติมตามที่ภาคเอกชนเสนอคือการเพิ่มเงินคนละครึ่งอีก 3,000 บาท แต่รัฐบาลเพิ่มให้เพียง 1,500 บาท ซึ่งการบวกเพิ่มอีก 1,500 บาทจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 9 หมื่นล้านบาท โดยหากรัฐบาลเลือกใช้มาตรการนี้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จะเป็นตัวกระตุ้นต่อยอดหลังปีใหม่ที่บรรยากาศจับจ่ายใช้สอยเริ่มฟื้น รวมถึงมาตรการช้อปดีมีคืนที่ภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐนำกลับมาใช้ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่จะให้ประชาชนนำเงินออมออกมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงปีใหม่ หรือขยายไปถึงช่วงตรุษจีน ส่วนมาตรการอื่นยังไม่จำเป็นในขณะนี้
หากมองจากข้อเสนอดังกล่าว สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้า ยังต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อฉุดเศรษฐกิจให้ฟื้น ที่ต้องจับตาไปที่การเตรียมร่างพระราชกำหนดกู้เงิน หลังจากขยายเพดานหนี้สาธารณะ 60% เป็น 70% ต่อจีดีพีไว้ก่อนหน้านี้ ที่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องบรรยากาศทางการเมือง ที่ยังไม่น่าไว้วางใจ