วันก่อนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศผ่านเว็บไซต์รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปชิฟิก หรือ เอเปก ในปี 2565 อย่างเป็นทางการ ที่ไทยเรารับไม้ต่อมาจากนิวซีแลนด์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นการจัดประชุมแบบพบหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลมาตลอด 2 ปี จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยิ่ง ในการเปิดตัวและขับเคลื่อนการฟื้นูประเทศจากสถานการณ์โควิดและแสดงความพร้อมในการต้อนรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ระดับผู้นำ นักธุรกิจระดับสูงและองคาพยพทั้งหมดของเอเปคตลอดจนสื่อชั้นนำกว่าหมื่นคนที่จะเดินทางมาประเทศไทยตลอดปีหน้า
“เอเปก” เป็นการรวมตัวระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปชิฟิก เป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค และยังมีชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าร่วมด้วย โดยมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเชีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีน ไทเป ชิลี เม็กชิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเชีย และเวียดนาม โดยปัจจุบัน สมาชิกเอเปคมีจีดีพีรวมกันทั้งสิ้นกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
ที่ผ่านมา ไทยได้ประโยชน์จากการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและได้ร่วมผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพของประชาชน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs การสนับสนุนบทบาทสตรีในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนด้วย
การเป็นเจ้าภาพ "เอเปก" จึงถือเป็นเกียรติ และสะท้อนความเชื่อมั่นที่สมาชิก "เอเปก" มีต่อไทย โดยไทยเคยเป็นเจ้าภาพ "เอเปก" เมื่อปี 2535 และ2546 และในการเป็นเจ้าภาพครั้งที่สามนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันเตรียมการอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ชุมชน จนถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อร่วมสกัดแนวคิดและวางเป้าหมายที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย
พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำว่าในการเป็นเจ้าภาพ "เอเปก" ครั้งนี้ ไทยจะขับเคลื่อนให้ "เอเปค" พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืนและสมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy มีหัวข้อหลักในการประชุม คือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล หรือ Open Connect Balance มุ่งผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ
หนึ่ง การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
สอง การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปก
และสาม การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยวเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด
ทั้งนี้การประชุมแรกของ "เอเปก 2565" ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ จะจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้ และจะมีการประชุมอื่น ๆ กว่าร้อยการประชุมในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศตลอดปีหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ พร้อมกับเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี
อย่างไรก็ตาม แม้การประชุมเอเปกจะมีความสำคัญ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนรวมทั้งประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นเจ้าภาพที่ดี เพื่อประโยชน์ของประเทศ ทว่าเมื่อมองบริบทการเมืองไทยที่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ ทำให้มองเห็นเค้าลางที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นคุณต่อสถานการณ์สักเท่าไหร่ จะเป็นโจทย์ที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องบริหารจัดการอย่างมีศิลปะ