อีก 2 สัปดาห์จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่สำคัญ คือการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล หรืออบต. ในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ หลังอัดอั้นมานาน 8 ปีจึงไม่แปลกที่ผลสำรวจการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งอบต.ในหัวข้อ “ถามใจคนท้องถิ่น ใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต.” ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. จะพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 53 จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างแน่นอน และอีกร้อยละ 27 คิดว่าจะไป มีเพียงร้อยละ 17 ที่ตอบว่ายังไม่แน่ใจ และร้อยละ 3 ที่บอกว่าไม่ไป ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.พร้อมด้วย นายธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ร่วมแถลงข่าวผลการสำรวจการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในหัวข้อ "ถามใจคนท้องถิ่น ใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต." เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการรณรงค์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งก่อนจะถึงวันเลือกตั้งในปลายเดือนนี้ โดยเมื่อถามว่า การเลือกตั้ง อบต.ทำให้นึกถึงเรื่องใดมากที่สุด พบว่าประชาชนร้อยละ 50 ตอบว่าการพัฒนาท้องถิ่น ร้อยละ 26 นึกถึงประชาธิปไตย และร้อยละ 25 นึกถึงสิทธิของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ร้อยละ 58 เห็นว่าการเลือกตั้ง อบต.มีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง มีเพียงร้อยละ 26 ตอบว่าไม่แน่ใจ และร้อยละ 16 ตอบว่าไม่มีผล แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้มีความสุจริต โปร่งใส หรือไม่ มีเพียงร้อยละ 31 ที่เชื่อมั่น ร้อยละ 50 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 19 ไม่เชื่อมั่น ปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ที่อาจมีส่วนสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งอบต.ครั้งมีความสุจริต ก็เนื่องด้วยไม่ได้เลือกตั้งมานานกว่า 8 ปี มีผู้บริหารคนเดิมมายาวนาน ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ต้องการสืบทอดอำนาจ ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นขนาดเล็กนี้ มีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ แต่ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณจัดซื้อ “เสาไฟกินรี” เป็นต้น ทำให้มีการจับตาความโปร่งใสในการหาเสียง เพราะตรรกะง่ายๆว่า เมื่อลงทุนสูง ก็ต้องเข้ามาถอนทุน เมื่อมีการทุมเทงบประมาณ หรือกระสุนในการเลือกตั้งจำนวนมหาศาล จึงเสี่ยงที่บุคคลเหล่านั้นจะเข้าทำมาหากินกับงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน โดยเฉพาะอบต.ในพื้นที่ที่สามารถจัดเก็บรายได้สูง อย่างไรก็ตาม กกต.ได้พัฒนาและปรับปรุงแอปพลิเคชันตาสับปะรด เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยสามารถรายงานสถานการณ์ทั่วไป และแจ้งข่าวทุจริตการเลือกตั้งเมื่อพบเห็นการทุจริตและการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ในรูปแบบข้อความ ภาพ เสียง หรือวิดีโอ ผ่านทางแอปพลิเคชันตาสับปะรด ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกต. www.ect.go.th หรือ App Store และ Google Play รองรับโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 8 ขึ้นไป และ iOS เวอร์ชัน 11 ขึ้นไป ซึ่งระวางโทษของผู้ที่ซื้อสิทธิขายเสียงนั้น มีโทษทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยมีโทษจำคุกมไม่เกิน 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนานถึง 20 ปี ดังนั้น การป้องกันปัญหาการทุจริตของอบต. จึงต้องป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำ คือการไม่ทุจริตในการเลือกตั้ง ว่าที่อบต.นอกจากจะบริหารเก่งแล้ว คุณสมบัติสำคัญของผู้บริหารท้องถิ่นขนาดเล็กนี้ จะต้องมีคือ ความซื่อสัตยสุจริต และเพื่อให้การกระจายอำนาจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผลประโยชน์ตกไปอยู่ในมือประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่อย ไม่มีรั่วไหลระหว่างทาง