ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ชัดว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของ "3 แกนนำม็อบราษฎร" เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา เข้าข่ายกระทำความผิดล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง อย่างชัดแจ้ง ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตามมาอย่างดุเดือด เข้มข้น โดยไม่ต้องคาดเดา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่เพียงแต่จะเป็นผลในทางคดีอาญาต่อตัว "แกนนำม็อบราษฎร" ทั้ง 3ราย ไม่ว่าจะเป็น "ทนายอานนท์" อานนท์ นำภา "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒกุล และ "ไมค์"ภาณุพงศ์ จาดนอก คือการถูกดำเนินคดีอาญาที่จะตามมา ต่างกรรม ต่างวาระ แต่สำหรับ "ฝ่ายการเมือง" ที่มีพฤติการณ์ที่เข้าไปให้การสนับสนุน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการส่ง "มวลชน" เข้าไปเสริมในการชุมนุมแต่ละครั้งที่ผ่านมา หรือแม้แต่การสนับสนุนเงินทอง เพื่อใช้เป็น "น้ำเลี้ยง" ผ่านไปยัง "แกนนำม็อบ" ย่อมจะเกิดผลในทางการเมืองตามมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล 2พรรคการเมืองในปีกฝ่ายค้าน กำลังถูกสังคมจับตาและตั้งคำถามตามมาว่าถึงที่สุดแล้ว จะถูกร้องให้ มีการ "ยุบพรรค" ตามมาหรือไม่ ? ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยกันหลายทาง เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล รวมถึง กลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ประกาศตัวยืนอยู่ข้าง "สถาบันพระมหากษัตริย์" เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีและพฤติการณ์ของ2พรรคว่าเข้าข่ายให้การสนับสนุน ตลอดจนรับเอา "ข้อเรียกร้อง" ของม็อบราษฎร เข้าสู่สภาฯ อย่างไรก็ดีการเดินหน้าของฝ่ายการเมืองที่ไม่เอาด้วยกับม็อบราษฎร และ เห็นต่าง2พรรคการเมืองที่จะใช้กฎหมายดำเนินการต่อเพื่อเอาผิด ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม กันในช็อตต่อไป แต่ขณะเดียวกันผลในทางการเมือง ผลต่อความเชื่อมั่น ผลต่อคะแนนนิยมของพรรคการเมืองนับจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง จะสร้างแรงสั่นสะเทือนตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่จะนำมาสู่ข้อถกเถียงและแบ่งผู้คนในสังคม ลุกลามไปถึงพรรคการเมือง คือการแบ่งขั้ว ระหว่างคนที่รักสถาบัน กับฝ่ายที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ จนนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่ !