เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
การเหยียดผิว เผ่าพันธุ์ มีทุกประเทศ ทุกยุคทุกสมัยจนถึงทุกวันนี้ รุนแรง เกี่ยวโยงถึงการเมืองอย่างที่อเมริกาและยุโรป รวมถึงเอเชียและแอฟริกา ซึ่งมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเป็นแสนเป็นล้านคน ที่ร้ายแรงที่สุดเห็นจะเป็นการฆ่าชาวยิว 6 ล้านคนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ปัญหาการเมืองยกเอาเรื่องเผ่าพันธุ์มาเป็นประเด็น ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง การแยกประเทศอย่างกรณีสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวีย ซึ่งมีหลายเผ่าพันธุ์ที่ถูกผนวกเข้าเป็นประเทศ ต้องการอิสรภาพ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมกับเผ่าพันธุ์ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง
ระหว่าง 1991-2001 ยูโกสลาเวียแตก เป็นสงครามกลางเมืองระหว่าง “เผ่าพันธุ์” ต่างๆ คนตาย 140,000 คน ปี 1994 เกิดการฆ่าเล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา แอฟริกา เพียง 100 วัน ฆ่ากัน 800,000 คน ผู้นำสองประเทศนี้ขึ้นศาลโลกด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
การดูหมิ่นเหยียดหยามมีทั้งการแสดงออกด้วยกิริยาวาจา ไปจนถึงการสร้างระบบสังคมที่มีกฎเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเพียงเพราะสีผิวและเผ่าพันธุ์ นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง
ยุคโซเชียลมีเดีย เรื่องราวเหล่านี้ถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และมีปฏิกิริยาตอบโต้กลับรุนแรงไม่แพ้กัน อย่างกรณีที่คนผิวดำถูกฆ่า ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือที่พบเห็นบ่อยวันนี้ในกีฬาฟุตบอล ที่กองเชียร์แสดงออกด้วยการร้องเพลงหรือการพูดเหยียดผิวนักฟุตบอลผิวสีของอีกทีมหนึ่ง ซึ่งยังคงมีให้เห็นบ่อยในยุโรป จนนักฟุตบอลอังกฤษรณรงค์แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านด้วยการคุกเข่าสงบนิ่งครู่หนึ่งก่อนเริ่มเกม
คนเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลก็จริง แต่มีสัญชาตญาณดิบด้วย มีความเห็นแก่ตัว ความต้องการเป็นใหญ่ ต้องการมีอำนาจเหนือคนอื่น เพื่อควบคุมบังคับและเอาประโยชน์ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะได้มาซึ่งอำนาจ หรือแสดงตนว่ามีอำนาจนั้น ที่อาจเป็นเพียงปมเขื่องที่กลบปมด้อย เหมือนหมาหวงถิ่นที่ของมันและฉี่ข่มตัวอื่น
ในบ้านเราก็มีปรากฏการณ์นี้มานานเช่นกัน มีทั้งเรื่องเผ่าพันธุ์และชนชั้นทางสังคม จึงมีการดูถูกชาวเขาชาวดอย คนบ้านนอกคอกนา คนไม่มีการศึกษา คนโง่จนเจ็บ ภาษาที่บ่งบอกถึงท่าทีและความรู้สึกดังกล่าว
โดยไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ว่า ความจริง ชาวเขาชาวดอยนั้นมีอารยธรรม แต่หนีอำนาจรัฐไปอยู่เขาอยู่ป่าห่างไกลไม่ให้รัฐตามไปนำตัวกลับมาทำงานรับใช้ ให้เป็นทหาร ไปรบ เป็นแรงงานทุกอย่าง เจมส์ ซี สก็อต แห่งมหาวิทยาลัยเยล วิจัยเรื่องชาวเขากว่า 100 ล้านคนในภูมิภาคอุษาคเนย์ยืนยันเรื่องนี้ว่า คนเหล่านี้มีวัฒนธรรมไม่ได้ต่ำต้อยด้อยกว่าคนพื้นราบ มีความสุขมากกว่า สุขภาพดีกว่าคนในเมืองที่อยู่ใต้อำนาจรัฐอีก
แต่ประวัติศาสตร์เขียนโดยคนที่มีอำนาจ จึงมองชาวเขาชาวดอยแบบ “ด้อยค่า” เช่นเดียวกับที่ “คนไทย” เขียนประวัติศาสตร์ และสร้างค่านิยมให้ลูกหลานมองคนลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม แบบยกตนข่มท่าน ทั้งๆ ที่หลายอย่างเพียงเพื่อกลบปมด้อย โดยการขี้โม้โอ้อวด และชอบ “เหมารวม” เรื่องหนึ่งไปถึงคนทั้งชาติ
ภาคอีสานของไทยเคยเป็นส่วนหนึ่งของลาว มีวัฒนธรรมประเพณีและภาษาเดียวกัน เมื่อก่อนนี้ คนอีสานเรียกตัวเองว่า “ลาว” หรือ “ลาวอีสาน” แต่สังคมไทยทำให้คำว่า “ลาว” กลายเป็นคำ “ด้อยค่า” ใช้เพื่อดูถูกเหยียดหยาม คนอีสาน (วันนี้) จึงมักหลีกเลี่ยงเรียกตนองว่า “ลาว” แต่เป็น “คนอีสาน” ไม่ได้พูดลาว แต่พูดอีสาน ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกัน ต่างที่ความรู้สึกที่ถูกระบายสี “ตีตรา” (stigma) ลงไปในคำนี้
คนเรามักตัดสินคนอื่นจาก “จุดยืน” ของตนเอง ซึ่งประกอบด้วยความเชื่อ ระบบคุณค่า ที่ถูกสังคมสั่งสมและสืบทอดกันมา เมื่อก่อนนี้คนภาคกลางมักบอกว่า คนอีสานขี้เกียจ ชอบนอนกลางวัน ซึ่งก็จริง เพราะอากาศร้อน แต่ไม่ได้ขี้เกียจ เพียงแต่ทำงานเท่าที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีพ ไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ เอาเป็นเอาตาย
เมื่อสังคมเปลี่ยนจาก “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” (ทำมาหากิน) มาเป็นทำมาหาเงิน คนอีสานทำงานหนักแทบตายก็ไม่เคยรวย ไปรับจ้างถีบสามล้อ ขับรถตุ๊กตุ๊ก ขับแท็กซี่ ชกมวย จับกัง เป็นลูกเรือประมง ร่วมทั้งงานบ้าน ที่ถูกเรียกว่าเป็น “อีแจ๋ว” และอื่นๆ ที่ใช้แรงงาน ส่วนใหญ่ไปรวมกันอยู่ในชุมชนแออัดต่างๆ
เมื่อก่อน คนอีสานมีพออยู่พอกิน ไม่ได้จน จึงไม่ได้ดิ้นรนทำงานหนัก แต่เริ่มจนเพราะเชื่อรัฐบาลว่า “งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข” ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อหวังรวยก็ได้หนี้ ที่มาพร้อมกับถนนหนทางไฟฟ้าน้ำประปา ที่เรียกกันว่า “ความเจริญ” เมื่อทำนาไม่พอใช้หนี้ก็เข้าไปรับจ้างในเมือง ไปเมืองนอก แบบไปเสียนามาเสียเมีย
แล้วถ้าหากสาวอีสานจะแต่งงานกับฝรั่ง ไม่ว่าจะทั้งหมู่บ้านหรือกี่คนก็เป็นการตัดสินใจของพวกเขา ที่ต้องการเลือกอนาคตที่ดีกว่า ซึ่งรัฐบาลไทย สังคมไทย ไม่มีปัญญาหาทางออกที่ดีกว่านี้ให้พวกเขา
คนอีสานไม่ได้ด้อยกว่าหรือเด่นกว่าคนภาคไหนของไทย ถ้ามีโอกาส พวกเขาก็พัฒนาตนเองได้ไม่ได้แตกต่างกัน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สังคมไทยให้โอกาสแก่พวกเขาอย่างเท่าเทียมหรือไม่
คุณหมอกระแส ชนะวงศ์ คนเมืองพล ขอนแก่น มักแนะนำตัวเองว่า “คนอื่นบอกว่าตนเองเป็นลูกชาวนา
ผมไม่ได้เป็นลูกชาวนาเพราะพ่อแม่ไม่มีนา ได้แต่ไปรับจ้าง” ท่านบอกว่า “ผมมีเพื่อนหลายคน ถ้าเขามีโอกาส เขาคงเก่งกว่าและมีตำแหน่งสูงกว่าผมอีก แต่เขาไม่มีโอกาสเหมือนผม” คุณหมอกระแส “โชคดี” ที่มีส.ส. นำมาอยู่ด้วยที่บ้านที่กรุงเทพฯ ช่วยทำงานบ้าน และให้เรียนหนังสือจนจบมัธยม แล้วสอบเข้าเรียนแพทย์ศาสตร์ศิริราช เป็นหมอแล้วเลือกกลับไปอยู่สุขศาลาที่เมืองพลบ้านเกิด เพื่อ “ให้โอกาสชาวบ้าน” ได้ “เข้าถึง” การรักษา
คนไทยมักอวดอ้างว่ารักสันติ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และอาจไม่ได้แสดงออกรุนแรงเท่ากับหลายประเทศ แต่ลึกๆ แล้ว คนไทยไม่น้อยยังมีความรู้สึกเหยียดคนภาคอื่น ศาสนาอื่น เผ่าพันธุ์อื่น ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดการฆ่ากันในเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งลึกๆ แล้วเป็นปัญหาทางสังคมวัฒนธรรม ชาวมุสลิมถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ อย่างยาวนาน
ไม่ว่าคนอีสานหรือคนใต้คงไม่ได้ต้องการแยกประเทศ แต่เพราะความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำและถ้าถูกกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่แน่เหมือนกัน (เข้าทางพวกที่ชอบยุแยงตะแคงรั่วในโซเชียลมีเดียพอดี)