ทวี สุรฤทธิกุล พรรคการเมืองไทยไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน เป็นแค่ตัวแทน “กลุ่มก๊วน” ท่านอาจารย์พัทยา สายหู ปรมาจารย์ด้านวิชาสังคมวิทยา เคยให้แง่คิดกับคณะกรรมการกลุ่มผลิตชุดวิชาพื้นฐานสังคมและวัฒนธรรมไทย ของสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มีผู้เขียนเป็นผู้ร่วมผลิต เกี่ยวกับ “ลักษณะเด่น” ของสังคมไทยว่า สังคมไทยนี้เป็นสังคมของ “กลุ่มก๊วน” โดยแท้ คือชอบที่จะรวมกันด้วยความใกล้ชิดสนิทสนม โดยกลุ่มสังคมที่มีความเหนียวแน่นที่สุดก็คือ “กลุ่มเพื่อนเรียน” ดังจะเห็นได้จากการเกาะกลุ่มของนักเรียนจนถึงการศึกษาระดับสูง (ที่ท่านหมายถึงพวกหลักสูตรของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เช่น วปอ. นั้นด้วย) ที่มักจะเป็นรุ่นเป็นเหล่า และเมื่อคนเหล่านี้เติบโตขึ้นในหน้าที่การงานต่าง ๆ ก็มักจะคบหาสมาคมกันและร่วมงานกันเฉพาะแต่ในกลุ่มเพื่อนเหล่านี้ กลุ่มเพื่อนเรียนหรือที่ท่านอาจารย์พัทยาเรียกว่า “กลุ่มก๊วน” นี้ ได้ส่งผลถึงการเมืองไทยเป็นอย่างมากอีกด้วย เพราะได้ทำให้นักการเมืองไทยคบกันด้วยความสนิทสนมเฉพาะกลุ่มนั้นอยู่เป็นปกติ ขาดความเป็นสาธารณะหรือการรวมกลุ่มกันเพื่อส่วนรวม แต่รวมกันเพื่อผลประโยชน์ของคนที่สนิทสนมกันเท่านั้น การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองไทยในยุคแรก เป็นผลจากการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 กำหนดให้มีพรรคการเมืองขึ้นได้ หลังจากที่ 14 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎรได้กีดกันไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใด ๆ เพื่อให้คณะราษฎรเป็น “คณะการเมือง” เพียงคณะเดียวที่มีอำนาจปกครองประเทศ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ได้ให้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง นักการเมืองไทยจึงเกิดอาการ “เห่อ” คือจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นอย่างมากมาย ถึง 10 กว่าพรรค ซึ่งก็เริ่มจากกลุ่มเพื่อนที่ทำงานการเมืองมาด้วยกันนั้นก่อน ตั้งเป็นพรรคการเมืองเล็ก ๆ มีสมาชิกที่เป็น ส.ส.เพียง 4 - 5 คนบ้าง 10 กว่าคนบ้าง (ตอนนั้นเป็นภายหลังการเลือกตั้ง การจัดตั้งพรรคการเมืองจึงเกิดจากการรวมกลุ่มกันของ ส.ส.ในสภานั่นเอง) จากนั้นในเวลาไม่นานพรรคการเมืองเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งก็ได้มารวมกันเป็นพรรคการเมืองให้ใหญ่ขึ้น พวกหนึ่งคือพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ที่รวมกันเพื่อสนับสนุนรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ (ใน พ.ศ. นั้นได้กลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมืองค่อนข้างมาก เนื่องจากคู่แข่งคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยุติบทบาทไปชั่วคราว จากการที่นำประเทศไทยไปร่วมรบกับญี่ปุ่น และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เพิ่งสิ้นสุดไปใน พ.ศ. 2488) อีกพวกหนึ่งก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายควง อภัยวงศ์ อดีตแกนนำของคณะราษฎรอีกคนหนึ่ง เป็นหัวหน้าพรรค แต่พรรคการเมืองในยุคนั้นก็มีบทบาทอยู่ได้ไม่นาน เพราะในปีต่อมาหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ทหารก็กลับมายึดอำนาจคืนไปให้จอมพล ป. นั้นอีก หากจะวิเคราะห์กรณีความแตกแยกของคณะราษฎรด้วยทฤษฎีของท่านอาจารย์พัทยา สายหู ก็จะเห็นว่า คณะราษฎรนั้นเกิดจาก “กลุ่มเพื่อนข้าราชการ” เป็นส่วนใหญ่ แต่มีลักษณะที่เป็น “พวกใครพวกมัน” มาแต่แรก คือมีกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ผสมกันอยู่ในคณะราษฎรนั้นอีกชั้นหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มข้าราชการทหาร ที่นำโดยร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ (ต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) กับกลุ่มข้าราชการพลเรือน ที่นำโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (หรือนายปรีดี พนมยงค์) ซึ่งในแต่ละพวกนี้ก็ยังมีกลุ่มย่อย ๆ ลงไปอีก อย่างกลุ่มของนายปรีดี ก็ยังมีกลุ่มนายควง และกลุ่มข้าราการในกรมกองอื่นอีกด้วย ที่นำมาสู่การแตกแยกของกลุ่มในภายหลัง อย่ากรณีที่มีการแยกตัวกันเป็นพรรคการเมืองคนละพรรคใน พ.ศ. 2489 ดังกล่าว มีการก่อตั้งพรรคการเมืองที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2495 อันเป็นผลที่ทหารคงจะ “กลัว” หรือ “เบื่อ” นักการเมืองในแบบเดิม ๆ ที่มีมาแต่ พ.ศ. 2489 นั้น ซึ่งได้สั่นคลอนรัฐบาลทหารมาโดยตลอด จนทหารต้องทำรัฐประหารเพื่อล้มเลิกรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2492 กับ 2494 แล้วทหารก็มาเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2495 ขึ้นมา ให้ข้าราชการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและตั้งพรรคการเมืองได้ ดังนั้นใน พ.ศ. นั้นจึงได้เห็นพรรคการเมืองของทหารเกิดขึ้น ที่สำคัญมีอยู่ 2 พรรค คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ที่มีจอมพล ป. เองเป็นหัวหน้าพรรค และมีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค กับพรรคชาติสังคม ที่มีพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารคนสำคัญในยุคนั้นเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็นพรรคเสริม (ในสมัยนี้น่าจะเหมือนกับที่เรียกว่า “แตกแบงก์ย่อย” นั้นก็ได้) เพื่อทำให้ดูเหมือนว่าทหารก็มีเสรีภาพ สามารถให้ทหารคนอื่น ๆ ตั้งพรรคการเมืองได้ด้วย กระนั้นแม้ว่าพรรคของทหารจะชนะการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2500 แต่ก็ต้องใช้กลโกงอย่างหนัก จนถูกเรียกว่าเป็นการเลือกตั้ง “ที่สกปรกที่สุด” และนำมาซึ่งการรัฐประหารของพลเอกสฤษดิ์ในปีเดียวกันนั้นเอง เช่นเดียวกันกับการที่ทหารได้จัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ในปี 2512 ที่ทหารก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาในทำนองคล้าย ๆ กันกับในปี 2500 นั้น คือพรรคสหประชาไทย แล้วก็ไปกวาดต้อนอดีต ส.ส.กับ “คนดัง” หลายคนมาเข้าพรรค (ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสมัยนั้น เป็นเรื่องเสียดสีล้อเลียนว่า การนำ ส.ส.มาร่วมสนับสนุนทหาร ก็เหมือนกับเอาตัวเงินตัวทองมารวมกับอีแร้ง และเรียกตัวนั้นว่า “ไอ้สหัปมงคล” ซึ่งก็น่าจะล้อกับชื่อของพรรคสหประชาไทยนั่นเอง) และก็สามารถกวาด ส.ส.ได้เข้ามาจำนวนมากตามคาด แต่ ส.ส.เหล่านั้นกลับสร้างปัญหาให้กับรัฐบาล เรียกร้องเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะรัฐธรรมนูญ 2511 ห้ามไม่ให้ สส.เป็นรัฐมนตรี แต่ข้าราชการเป็นได้ จึงต่อรองเอาค่ายกมือในทุกครั้งของการประชุมสภา ทำให้รัฐบาลสั่นคลอนอยู่ตลอดเวลา ที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ต้องทำการรัฐประหารรัฐบาลของตัวเองใน พ.ศ. 2514 เพื่อจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น ถ้าจะมองไปตามทฤษฎีของอาจารย์พัทยา ก็อาจจะคิดไปได้ว่า ทหารคิดอะไรไม่พ้นไปจากก๊กก๊วนของตน ได้แก่ เรื่องของรุ่นของเหล่าในกองทัพ นึกว่านักการเมืองนั้นจะสามารถจัดการได้ง่าย ๆ เหมือนจับไอ้เณรมาเข้าแถว แล้วสั่งซ้ายหันชวาหัน ให้ทำอะไรตามสั่งก็ได้ ซึ่งทหารก็ยังทำแบบนั้นเรื่อยมา ทั้งในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ใน พ.ศ. 2522 และ รสช.ใน พ.ศ. 2534 รวมถึง คสช. กับพรรคพลังประชารัฐในสมัยนี้ สัปดาห์หน้ามาดูกันว่า ทหารคิดกระทำย่ำยีต่อระบอบประชาธิปไตยเหล่านี้ ต้องพบกับ “โศกนาฏกรรม” อะไรบ้าง