เป็นเรื่องที่ดีที่บรรดาพรรคการเมืองโดดเข้ามาให้ความสนใจ แก้ไขปัญหากรณีมีการพูดคุยในแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์ที่ได้มีการแสดงทัศนคติดูถูก เหยียดหยาม ด้อยค่าพี่น้องประชาชนในภาคอีสาน เพราะหากนักการเมืองและพรรคการเมืองเข้าใจปัญหาที่แท้จริง และแสวงหาแนวทางการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็จะสามารถนำแนวทางหรือปรับประยุกต์ไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองที่นักการเมือง และพรรคการเมืองเป็นต้นตอของปัญหาได้อย่างดี
เช่น เดียวกับปัญหาการด้อย ค่า เหยียดหยาม เสียดสี ในบริบทของการเมืองไทย ที่ควรเปิดใจยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเรียกกลุ่มบุคคลต่างๆ ว่า “สลิ่ม” “มินเนียน” “สามกีบ” “ควายแดง” หรือการออกมาแสดงความเห็นด่าทอคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกตนเอง อย่างหยาบคาย ให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชังในโลกโซเชียล ก็ไม่ควรเพิกเฉย ควรเป็นปัญหาที่พรรคการเมืองต้องลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย และหวังว่าจะได้แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงคลื่นกระทบฝั่ง
อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์ดูหมิ่นพี่น้องประชาชนในภาคอีสานนั้น มีคำแนะนำออกมาจากกรมสุขภาพจิต 5 ข้อที่อาจนำไปประยุกต์กับการแก้ไขปัญหาความแตกต่างในสังคมไทยในหลายประเด็น
1.ให้สังเกตและทำความเข้าใจความเหมือนและความแตกต่างกันของแต่ละคน โดยให้มองเห็นว่าความแตกต่างนั้นเป็นสีสันตามธรรมชาติของทุกสังคม แม้ในบางจุดเราอาจจะมีความแตกต่างกันและมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แต่โดยส่วนมากแล้วทุกคนก็ล้วนมีส่วนที่เหมือนกัน และไม่มีอัตลักษณ์ใดที่ด้อยไปกว่ากัน ทุกคนบนโลกมีความเป็นคนเท่าๆ กัน
2.ให้เด็กสามารถตั้งคำถามได้เกี่ยวกับความแตกต่างของแต่ละบุคคล โดยเด็กบางคนอาจจะสงสัยในความแตกต่าง เช่น สีผิว เพศ รูปร่าง ภาษา ศาสนา และวิถีชีวิตของเพื่อน ซึ่งผู้ปกครองสามารถให้คำตอบหรือชวนมาช่วยกันค้นคว้าผ่านแหล่งความรู้ที่หลากหลาย โดยใช้ใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ
3.เรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวผ่านตัวอย่างเหตุการณ์บนโลกโซเชียล เช่น เหตุการณ์การเกลียดชังในอดีต หรือกรณีที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากแหล่งข้อมูลหลักของเด็กและวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมาจากสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เราจึงสามารถหาตัวอย่างการเหยียดและอคติที่เกิดขึ้นและนำมาพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ เช่น เพราะเหตุใดเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น ตัวเรามีความเสี่ยงอย่างไรในการถูกเหยียดหรือแบ่งแยก และเราสามารถปกป้องตนเองได้อย่างไรในอนาคต
4.ชวนทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้คนต่างพื้นที่ หรือกิจกรรมที่มีคนจากหลายวัฒนธรรมมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้มีการพูดคุยในสำเนียงภาษาที่แตกต่างกัน มีอาหารการกินที่แตกต่างกัน หรือแบ่งปันเรื่องขนบธรรมเนียมของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ก็จะช่วยทำให้เด็กเปิดโลกและเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจหาโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการกลั่นแกล้งและการเหยียด ที่มักมีในชมรมหรือสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน
5.ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและวัยรุ่น ด้วยการหลีกเลี่ยงการเหยียดความแตกต่าง ไม่ใช้คำบ่งชี้ลักษณะภายนอกของเด็กมาแทนชื่อเด็ก ไม่ชื่นชมลูกเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ชมเชยลูกโดยเอาไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เป็นตัวอย่างในการมีความเห็นอกเห็นใจให้ผู้อื่น รวมถึงปฏิบัติต่อเด็กอย่างเท่าเทียม ให้เกียรติ และเคารพสิทธิของเด็กและวัยรุ่นในครอบครัว
จาก 5 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นักการเมืองและพรรคการเมืองอาจนำไปศึกษาและต่อยอดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ สำคัญตรงที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจไม่ฉาบฉวย