บรรยากาศประเทศไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ขานรับมาตรการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะล่าสุดได้ปลดล็อกเพิ่มบัญชีรายชื่อประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน เพิ่มเติมอีก 17 ประเทศ ซึ่งสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้จากเดิม 46 ประเทศ เป็น 63 ประเทศ ประกอบด้วย โครเอเชีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, คูเวต, ลาว, ลักเซมเบิร์ก, มัลดีฟส์, มองโกเลีย, เมียนมา, เนปาล, โอมาน, ฟิลิปปินส์, โรมาเนีย, สโลวัก, ศรีลังกา, เวียดนาม, ไต้หวัน ที่สำคัญคือโอกาสทางการค้าได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ได้เสนอแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเร่งด่วน 7 แนวทาง ดังนี้ 1. Stimulus Consumption ภาครัฐต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว ตรงเป้าเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ส่งเสริมเที่ยวไทย เพิ่มวงเงินคนละครึ่งและยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งนำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมา โดยเพิ่มวงเงินเป็น 200,000 ล้านบาท ไปจนถึง กุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลต้องลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภค โดยลดค่าสาธารณูปโภค คาดว่าจะสร้างเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจจากนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย.65 ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาทหรือราว 10% ของจีดีพี 2.Support Employment รัฐต้องรักษาการจ้างงาน โดยใช้มาตรการภาษี เพื่อที่ม่ให้ลดพนักงานหรือเลิกจ้าง 3.Strengthen SME รัฐต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเร่งด่วนเพื่อพยุงเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 3 ล้านรายให้อยู่รอด รวมทั้งมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก 4. Speed Up Digital Economy รัฐต้องลดกฎระเบียบและพัฒนาระบบคลาวด์, เอไอ และดาต้า เซ็นเตอร์ ให้พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 5. Simplify Regulation ปรับกฎระเบียบต่างๆที่ช่วยให้การประกอบธุรกิจง่ายและสะดวกมากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนและลดค่าเสียโอกาสของธุรกิจได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8% ของจีดีพี ฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 6.Sustainable Public Health ต้องป้องกัน,ควบคุม และระมัดระวังการแพร่ระบาดของโควิดใกล้ชิด และ7.Spike Up Private Investment รัฐต้องสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน เพราะทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงาน ช่วยให้การบริโภคขยายตัวได้ทันที อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังจากภาครัฐในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วหลังเปิดประเทศแล้ว ผลสำรวจความคิดเห็นของซูเปอร์โพล พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.6 กังวลพวกฉวยโอกาสเห็นแก่ได้ ช่วงเปิดประเทศ ทำผิดกฎหมายซ้ำเติมวิกฤตเดือดร้อนประชาชน และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 กังวลต่อพวกนายจ้าง เจ้าของโรงงาน และพวกเอเย่นต์นำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย เห็นแก่ตัว สร้างปัญหาพ่วงต่อซ้ำเติมวิกฤตชาติและประชาชน เช่น โควิดระบาดรอบใหม่ ยาเสพติด ค้ามนุษย์ คนไทยตกงาน ไม่มีงานทำ ขาดรายได้ เป็นต้น เพราะไม่ต้องการให้ต้องกลับไปปิดประเทศอีกครั้ง จึงคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ฉดฉวยโอกาสเพียงระยะสั้น แต่สร้างความเสียหายระยะยาว ที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องเอาจริงกับผู้ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาด ซ้ำเติมวิกฤติ