ทวี สุรฤทธิกุล ผู้มีอำนาจของไทยมักเข้าใจว่า พรรคการเมืองคือฐานอำนาจอย่างหนึ่งของตน แนวคิดการเกิดขึ้นของระบบพรรคการเมืองเป็นแนวคิดของฝรั่งก็จริง แต่ก็มีรากฐานความคิดจากความจริงในชีวิตมนุษย์ ที่มีความต้องการอันหลากหลาย และอยากให้มีผู้ที่จะตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้นให้เกิดขึ้นแก่ตนให้ได้ โดยเริ่มการการเมืองในแบบตัวแทน และพัฒนาขึ้นมาเป็น “กลุ่มตัวแทน” หรือพรรคการเมืองในเวลาต่อมา หากจะเอาประเทศอังกฤษเป็นรากฐานของแนวคิดแบบนี้ ซึ่งอังกฤษมีระบบตัวแทนเกิดขึ้นมาแต่ยุคกลาง (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 8-10) ที่อังกฤษยังเป็นศักดินาแบบเดิม ๆ โดยกษัตริย์จะมอบอำนาจและแต่งตั้งบุคคลที่มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะนักรบหรือเหล่าอัศวินให้ไปขยายอาณาเขต โดยควบคุมดูแลการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ของราษฎร แล้วเก็นส่วยสาอากรค่าฤชาธรรมเนียมต่าง ๆ เข้าคลังหลวง รวมถึงที่แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับขุนนางและอัศวินเหล่านั้น แต่ก็มีขุนนางหรืออัศวินส่วนหนึ่งที่ “เห็นอกเห็นใจ” ราษฎร บางครั้งเมื่อกษัตริย์บอกให้ขูดรีดภาษีหรือส่งส่วยมากขึ้น ก็พยายามที่จะเข้าข้างราษฎร อย่างกรณีที่เป็นตำนานเรื่องโรบินฮู้ด ก็เพราะโรบินฮู้ดนั้นต่อสู้เพื่อชาวบ้าน ในที่สุดขุนนางเหล่านั้นก็มีการรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องเอาจากกษัตริย์ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าจอห์น ในปี ค.ศ. 1215 โดยบังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามยินยอมที่จะไม่ทำการใด ๆ โดยไม่ปรึกษาขุนนางทั้งหลายนั้นเสียก่อน (เอกสารที่บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามนั้นเรียกว่า Magna Carte “แม็กน่า คาร์ตาร์”) นักรัฐศาสตร์จึงถือว่าระบบการเมืองแบบตัวแทนได้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้น ก่อให้เกิดระบบรัฐสภาหรือที่ประชุมของผู้เป็นตัวแทน เพื่อนำข้อเสนอต่าง ๆ ให้กษัตริย์ต้องปฏิบัติ แต่เพื่อไม่ให้กษัตริย์ต้องรับผิดชอบเรื่องการบริหารประเทศโดยตรง รัฐสภาจึงแต่งตั้งให้มีคณะผู้บริหารคือรัฐบาลขึ้นทำหน้าที่นั้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าผู้บริหาร ที่เรียกว่า “คณะรัฐมนตรี” หรือ Cabinet อย่างไรก็ตามกว่าระบบพรรคของอังกฤษจะเกิดขึ้นก็ราว 400 ปีต่อมา คือในสมัยสงครามกลางเมือง ช่วง ค.ศ. 1625 - 1640 ที่สภาอังกฤษเกิดจลาจล โดย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ได้ยึดอำนาจจากกษัตริย์และตั้งตนเองเป็น “เจ้าผู้คุ้มครอง” (Lord Protector) ทว่าภายหลังการตายของครอมเวลล์ ระบบกษัตริย์ก็ฟื้นคืนมา พร้อมกับการปฏิรูปรัฐสภา เกิดการแบ่งขั้วแนวคิดเป็น 2 พวก พวกหนึ่งหนุนกษัตริย์ก็ถูกเรียกว่าพวกอนุรักษ์นิยม ที่ต่อมาก็กลายเป็นพรรคชื่อพรรคอนุรักษ์นิยมนั่นเอง อีกพวกเป็นพวกนิยมเสรีภาพ ก็เรียกว่า Liberal ที่ได้กลายมาเป็นพรรเสรีนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 พวกแรงงานอันเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมขยายบทบาทมากขึ้น จึงเกิดพรรคแรงงานขึ้นมา และกลืนพรรคเสรีนิยมเข้ามาไว้ด้วยจากนั้นระบบรัฐสภาอังกฤษก็เป็นการแข่งขันกันระหว่างพรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงานนี้มาโดยตลอด ถ้าใครเคยได้อ่านหนังสือชื่อ “ฝรั่งศักดินา” ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องการเมืองการปกครองแบบโบราณของอังกฤษ อาจจะจับความคิดของของคนอังกฤษอย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อธิบายไว้ได้ว่า “สปิริต” หรือจิตวิญญาณของการปกครองอังกฤษคือ “การสร้างกติการ่วมกัน” ที่ตำรารัฐศาสตร์เรียกว่า “ระบบนิติรัฐ” หรือ Rule of Law นั่นเอง คนอังกฤษสร้างระบบการปกครองแบบมีตัวแทนผ่านผู้ปกครองแบบเก่า คือพวก Land Lord หรือ “ขุนนางเจ้าที่ดิน” ที่อาสาเป็นตัวแทนในการเจรจากับกษัตริย์ เมื่อกษัตริย์บิดพลิ้วในเรื่องใด ขุนนางเจ้าที่ดินเหล่านั้นก็จะรวมตัวกัน ยื่นข้อต่อรองแก่กษัตริย์ จนถึงขั้นให้ลงพระปรมาภิไธยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อย่างในกรณี Magna Carte นั้น นั่นก็คือการสร้างพันธะสัญญา อันเป็นข้อกำหนดที่เป็นกฎหมายให้กับกษัตริย์ เท่ากับว่ากษัตริย์ได้ลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกันกับราษฎรทั้งหลาย ระบอบประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นในอังกฤษตั้งแต่มีกฎบัตรอันนั้น เพราะได้ทำให้กษัตริย์และประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน คืออยู่ภายใต้กฎหมายทั้งหลายเช่นเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน ระบบพรรคการเมืองของอังกฤษก็มีการปรับเปลี่ยนขยายตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ อย่างที่อังกฤษยังมีพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นพรรคใหญ่ในระยะแรก เนื่องด้วยคนอังกฤษยังต้องการที่จะรักษาอัตลักษณ์แห่งชาติ คือความยิ่งใหญ่ของอังกฤษนั้นไว้ โดยเฉพาะการรักษาพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีผู้คนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านั้นมากเท่าใด แต่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องหรือการทำมาหากินเป็นสำคัญ การเกิดขึ้นมาและเติบโตอย่างรวดเร็วของพรรคแรงงานก็เกิดขึ้นด้วยเหตุผลนั้น ส่วนพรรคอนุรักษ์นิยมแม้จะเกิดจากการรักษาขนบต่าง ๆ ในความคิดทางการเมืองในแบบเก่า แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยนี้ ก็ได้ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยขึ้นมาก จึงทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมยังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างมากมาย และสามารถที่จะขึ้นสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจสลับกับพรรคแรงงานได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ในทำนองที่เป็น “โมเดล เชนจ์” หรือการสลับเครื่องยนต์มาใช้บริหารในแต่ละยุคสมัย ที่กระแสสังคมมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลานั้น ในสมัยก่อน อย่างกรณีการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองแบบอังกฤษ ได้ทำให้มีการกำหนดนิยามหรือความหมายของพรรคการเมืองว่า “กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์หรือแนวความคิดทางการเมืองคล้ายคลึงกัน มาร่วมกันเพื่อที่เสนอตัวให้ประชาชนได้เข้าไปใช้อำนาจในการบริหาร และเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ทางการเมือง ตามที่ได้มีข้อกำหนดเป็นตัวบทกฎหมายร่วมกัน” อันเป็นแนวคิดของระบบพรรคการเมืองแบบเก่า ซึ่งมาถึงทุกวันนี้ พรรคการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นตามแบบดังกล่าวนั้นแล้ว แต่กลายเป็นว่าต้องปรับตัวตามการเกิดขึ้นของกลุ่มสังคมที่หลากหลาย และต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในทุกรูปแบบ ซึ่งจะได้อธิบายและยกตัวอย่างให้เห็นต่อไป ขณะนี้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องความแตกแยกร้าวฉานในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถ้ามองด้วยทฤษฎีพรรคการเมืองแบบเก่า ๆ ก็อาจจะบอกว่ารัฐบาลคงจะถึงกาลอวสานในไม่ช้านี้ แต่ถ้าจะมองด้วยทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ ที่ไม่ได้ยึดอุดมการณ์อะไรกันมากมาย เพียงแต่รวมตัวกันเอาไว้ แม้จะทะเลาะกันทุกวัน แต่เพื่อรักษารัฐบาลให้อยู่รอดไปวัน ๆ ก็ต้องกลืนเลือดกัดฟัน “กอดคอ” กันไว้ ในแนวคิดนี้ รัฐบาลนี้คงอยู่ต่อไปได้อีกสักระยะ คงต้อง “ถูลู่ถูกัง” อยู่กันไปอย่างนี้ จนกว่าหลวงพ่อป้อมจะเบื่อสามเณรตู่นั่นแหละ