เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
ถ้าใช้เงินภาษีราษฎรไทย 887 ล้านเพื่อจัดงาน “นิทรรศการโลก” หรือเวิลด์ เอ็กซ์โป คนไทยก็ควรมีสิทธิแสดงความเห็น ประเทศประชาธิปไตยมีวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ ไม่ถือว่าการวิจารณ์เป็น “การด้อยค่า” แต่เป็นเหมือน “คำอวยพร” เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข เหมือนการมอง “วิกฤติ” เป็น “โอกาส”
คนที่วิจารณ์ส่วนใหญ่คงไม่ได้ไปดูที่งานโดยตรง แต่เห็นจากยูทูบ จากข่าว ซึ่งมีการนำเสนอต่อเนื่องมาตั้งแต่เปิดงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และจะมีต่อไปอีก 6 เดือน แต่ก็พอมองเห็นแนวคิดของการจัดการที่มีหัวข้อหลักว่า “เชื่อมความคิด สร้างอนาคต : CONNECTING MINDS, CREATING THE FUTURE”
พร้อมกับคำอธิบายว่า เพื่อให้เห็นถึงการขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้า โดยประสานเชื่อมโยงผู้คน องค์กร และประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่เกี่ยวกับความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญวันนี้ คือ เรื่องน้ำ สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน ชีวิตในเมือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ศาลาไทยและการแสดงต่างๆ มาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ได้ทำการศึกษาภาพลักษณ์ไทยในสายตาคนต่างชาติ แต่การแสดงต่างๆ ทั้งด้านนอก ด้านในศาลาก็ยังเน้นให้เห็น “ความสวยงามแปลกตา” (exotic) ของวัฒนธรรม 4 ภาค ซึ่งนำเสนอได้ตื่นเต้นเร้าใจ
ประเด็นอยู่ที่ว่า ทั้งสถาปัตยกรรมและการแสดงสะท้อนแนวคิดดังกล่าวมากน้อยเพียงใด หรือได้แต่รูปแบบไม่ได้เนื้อหา หรือ “คุณค่า” ที่อยู่ลึกลงไป ที่ผู้คนสามารถสัมผัสได้ไม่ใช่เพียงด้วยหูตา แต่ “ด้วยใจ”
นักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 กว่าล้านคนที่มาเที่ยวไทยก่อนโควิดคงประทับใจ “คนไทย” และ “วิถีไทย” ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ ทะเล ภูเขา ซึ่งหลายประเทศมีสิ่งเหล่านี้สวยงามกว่าไทยอีก แต่ “ภาพรวม” ดูเหมือนมาเที่ยวไทยแล้วได้อะไรเหมือนอาหารไทยที่ลงตัว เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม แตกต่างจากอาหารชาติอื่น
คำถาม คือ การแสดงนอกและในเวทีที่ดูไบ ทั้งตอนตะวันตกดินและค่ำมืด และนิทรรศการในห้องต่างๆ นั้น สามารถ “ตอบโจทย์” “ตีความ” และทำให้คนได้สัมผัส “จิตวิญญาณ” ของไทยได้เพียงใด หรือได้เพียงทำให้ตื่นตาตื่นใจ (exotic) ทำให้คนมาดูความแปลกใหม่ตื่นเต้นเร้าใจของการเต้นการรำและเสียงดนตรี
ด้วยเหตุนี้ การนับจำนวนคนเข้าชมอย่างเดียวไม่น่าจะวัดความสำเร็จหรือ “คุณค่า” และความ “คุ้มค่า” ของการจัดงานของไทยได้ (ลายมือสวยในกระดาษข้อสอบไม่ได้แปลว่าตอบโจทย์ถูก) มีเหตุการณ์มากมายที่เกิดไทยมุง ฝรั่งมุง เพียงเพราะอยากดูอะไรแปลกประหลาด แต่ก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่านั้น
ดูเหมือนว่าเป้าหมายสำคัญของการไป “ออกงาน” นี้ สุดท้ายก็เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน หรือเพื่อผลทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ก็ไม่ว่ากัน แต่คนที่จะมาลงทุนเขาคงมีข้อมูลรอบด้านแล้วจึงตัดสินใจมาลงทุนเป็นร้อยล้านพันล้าน คงดูทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ส่วนคนอยากมาเที่ยวก็หาดูคลิปวิดีโอสวยๆ เกี่ยวกับเมืองไทยได้เต็มไปหมด ถึงต้องตั้งคำถามว่า ลายมือสวยก็จริง แต่ตอบโจทย์ถูกไหม
ประเด็นสำคัญอยู่ที่การตีความโจทย์ “เชื่อมความคิด สร้างอนาคต” ว่าจะ “เชื่อมอดีตกับปัจจุบันเพื่อสานอนาคต” ได้อย่างไร ซึ่งในวิดีโอที่ฉายในศาลาไทยที่ดูไบก็พยายามย้อนอดีตของไทยไปหลายหมื่นปีด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าไปไกลถึงนั่นทำไม สิ่งที่เราควรสื่อ คือ คุณค่าดั้งเดิมของสังคมไทยในสยามนี้คืออะไร มีปัจจัยอะไรที่กำหนดวิถีไทยให้เป็นเช่นนี้ ถ่ายทอดสืบทอดกันมาอย่างไรจึงต่อเนื่องพัฒนา
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และสะท้อนอัตลักษณ์ไทยได้ดีที่สุด ที่คนต่างชาติประทับใจ มีอย่างน้อย 4 อย่าง คือ อาหารไทย นวดไทย มวยไทย และการทำสมาธิ อยู่ที่ว่าจะ “ตีโจทย์ให้แตก” เพื่อให้เห็น “คุณค่า” ของปัจจัยทั้งสี่ นี้ได้อย่างไร ซึ่งสัมพันธ์กับโลกแห่งอนาคตที่กำลัง “คืนสู่ธรรมชาติ” “คืนสู่รากเหง้า” “คืนสู่สามัญ” ที่สะท้อนให้เห็นในเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” “สุขภาพ” “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” และ “การพัฒนายั่งยืน”
อาหารไทยได้ชื่อว่านอกจากอร่อยแล้วยังดีต่อสุขภาพ การลดน้ำหนัก เพิ่มภูมิต้านทาน ได้รับความนิยมทั่วโลก ไม่ทราบว่าที่ดูไบตีโจทย์นี้แตกไหม หรือได้แค่ “อร่อย” เช่นเดียวกับมวยไทย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก เราเสนออะไรที่เป็นภูมิปัญญาไทยล้ำลึกกว่าแค่อาวุธที่รุนแรงที่ “นักมวยกรง” นิยมใช้กันวันนี้หรือไม่ มวยไทยไม่ใช่เพียงเพื่อให้นักมวยใช้ชกกัน แต่เพื่อคนรักสุขภาพ และคนที่ต้องการศิลปะป้องกันตัวก็เรียนได้
นวดไทยที่ไม่ใช่บริการทางเพศอย่างที่คนในโลกไม่น้อยเข้าใจ เราเสนออะไรที่สัมพันธ์กับสุขภาพองค์รวมที่เป็นแนวโน้มของอนาคตเพียงใด รวมทั้งการทำสมาธิ ในโลกที่สับสนวุ่นวาย เครียด บ้า อย่างวันนี้ ไทยมีสถานที่วิปัสสนาทำสมาธิมากมาย ในเมืองและในชนบท ความสงบเงียบของวัดวาอาราม รีสอร์ตโฮมสเตย์
คงเพราะต้องการโชว์ความแปลกหูแปลกตา ประหลาดน่าชม จึงนำเอาวิถีวัฒนธรรมความเชื่อพื้นบ้านอย่างผีตาโขนไปแสดงร่วมกับศิลปะการแสดงการอื่นๆ ซึ่งนอกจากสะท้อนถึงความไม่เข้าใจวิถีชีวิตและคุณค่าวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นเหมือนการดูถูกภูมิปัญญาของชาวบ้าน นำมาใช้ผิดกาลเทศะ
เวลาฝรั่งเอาพระพุทธรูปไปตั้งหน้าร้านอาหาร คนไทยก็ประท้วงว่าไม่เหมาะสม ขึ้นป้ายโฆษณาใหญ่โตบนทางด่วนในกรุงเทพฯ เตือนฝรั่งว่าอย่าทำ แต่คนไทยเองก็ทำกับชาวบ้านที่เชื่อเรื่องผีตาโขน ที่ไม่ใช่แบบที่ฝรั่งทำเล่นๆ ในวันฮัลโลวีน ททท. ก็ “ทำเล่นๆ” เอาผีตาโขนไปประชาสัมพันธ์ให้คนมาเที่ยวเมืองไทย
ถ้ากรณีผีตาโขนยังเข้าไม่ถึง “จิตวิญญาณ” ของภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนไทย ก็ไม่แปลกถ้าหากการแสดงต่างๆ ที่ดูไบจะได้แต่รูปแบบ ได้แต่ความตื่นตาตื่นใจ แปลกใหม่ในสายตาผู้คน แต่เข้าไม่ถึง “คุณค่า” ที่เป็น “หัวใจ” ของสิ่งดีๆ ที่คนไทยมี สังคมไทยมี ที่ควรเสนอให้คนต่างชาติ เพื่อไม่เพียงได้เห็นด้วยตา แต่สัมผัสด้วยใจ
และนี่ต่างหากที่จะเชื่อมความคิด เชื่อมใจ (connecting mind) ตามธีมของเวิลด์ เอ็กซ์โปนี้ ที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน (creating the future) อย่างที่รัสเซล โครว์ ได้มาสัมผัสด้วยตัวเองที่เมืองไทย ประทับใจ และบอกต่อไปยังแฟนคลับเขาทั่วโลก โดยไม่เสียเงินจ้างสักบาท