แสงไทย เค้าภูไทย น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผลประโยชน์ตกทอดของทหารและนักการเมืองมาแต่ยุคปตท.ยังไม่เกิด จนถึงวันนี้ หลังยึดอำนาจ บิ๊กป้อมยังพูดถึงการรื้อฟื้นน้ำมันสามทหาร แต่เงียบไปหลังจากบอร์ดปตท.มีทหารเข้าไปนั่งเต็มพรืด การที่ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับน้ำมัน ไม่ว่าจะน้ำมันเชื้อเพลิงหรือน้ำมันหล่อลื่นจนตั้งบริษัทน้ำมันสามทหารก่อนแปรเป็นปตท.ก็เพราะ น้ำมันเป็นหนึ่งในยุทธปัจจัย และเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กองทุนน้ำมันจุดประสงค์ก็เพื่อใช้สำรองหรือจัดหาน้ำมันมาใช้ในสถานการณ์ฉุกฉิน ไม่ว่าจะด้วยศึกสงคราม หรือผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกลดกำลังผลิตหรือเพื่อเป็นกันชนราคามิให้ขึ้นเร็ว ขึ้นสูงจนผู้บริโภคเดือดร้อน ราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมขนส่ง การค้าทุกรอยต่อในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ภาคเกษตร สู่โรงงาน สู่ผู้บริโภค ผู้ส่งออก น้ำมันจึงเป็นตัวการสำคัญกำหนดราคาสินค้าตัวหนึ่ง สินค้าแพง เงินเฟ้อ ราคาน้ำมันมีส่วนร่วม เมื่อวันเปิดตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ ดัชนีราคาหุ้นไทยตกแรง เหตุจากความกังวลเงินเฟ้อ ที่ส่อแววว่าจะอยู่ยาวฉุดเศรษฐกิจชะลอตัว ซ้ำเติมภาวะย่ำแย่อันเกิดจากโควิด-19 อยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีก การที่ราคาน้ำมันแพงนั้น นอกจากโครงสร้างราคาที่มีตัวเบียดมาดึงรายได้จากน้ำมันไปแล้ว ยังมีต้นทุนการผลิตอันเกิดจากการบริหารบริษัทมหาชน ปตท.ด้วย น้ำมันหน้าโรงกลั่นเทียบได้กับสินค้าจากผู้ผลิต ลิตรละ 20.31 บาท เมื่อไปสู่ปั๊ม ราคาถูกบวกด้วยภาษีถึง 8.84 บาท อันได้แก่ภาษีสรรพสามิต 5.85 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.92 บาท ภาษีเทศบาล 0.95 บาท ภาษีค่าการตลาด 0.12 บาท แล้วยังมีตัวตอดคือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 0.62 บาท กองทุนเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน 0.10 บาท กับค่าการตลาดหรือกำไร 1.65 บาท ค่าการตลาดหรือกำไรนั้น ถือเป็นกลไกทางการค้าที่ไม่ว่าจะทำมาค้าขายอะไร ก็ย่อมจะตั้งราคาบวกกำไรเป็นธรรมดาไม่ว่ากัน แต่กองทุน 2 กองนั้น เอาไปทำอะไร ? เพราะเก็บเอาไปกองไว้ รัฐบาลขาดดุลการคลังหนัก รายได้จากภาษีต่ำกว่ารายจ่ายมาก รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลประยุทธ์ 1-2 จึงมาโอนเข้าคลังไปรวมๆแล้วหลายหมื่นล้านบาท สำหรับภาษีตัวการทำให้ราคาน้ำมันบ้านเราแพงกว่าเพื่อนก็คือภาษีสรรพสามิต โดยนิยามตามกระทรวงการคลังก็คือภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าและบริการซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีสูงกว่าปกติ เช่น บริโภคแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และศีลธรรมอันดี มีลักษณะฟุ่มเฟือย และสินค้าและบริการที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากกิจการของรัฐ เป็นต้น เพื่อเป็นรายได้ให้รัฐบาลนำไปบริหารประเทศ น้ำมันเข้าข่ายตามนิยามนี้ข้อเดียว คือได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากกิจการของรัฐ ซึ่งดูแล้วก็ไม่เห็นจะได้รับผลประโยชน์พิเศษจากรัฐตรงไหน ยิ่งฐานะของปตท.ยามนี้ น่าจะพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจได้แล้ว เพราะเข้าตลาดหุ้น เป็นบริษัทมหาชน สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนมาบริหารกิจการซึ่งไม่เคยขาดทุนเลย มีแต่กำไร เอาไปตั้งบริษัทลูกเป็นสิบๆบริษัท ลักษณะของสินค้าจึงไม่น่าจะเข้าข่ายสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนไทยทั้งประเทศ ตั้งแต่ผู้ใช้รถไปจนถึงเกษตรกรใช้เดินเครื่องสูบน้ำตามท้องไร่ท้องนา สวนผลไม้ หรือถ้าจะตีความว่าต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐ ต้องใช้โรงกลั่น โรงแยกก๊าซ ต้องใช้น้ำมันจากบ่อหรือสัมปทานของรัฐ มีค่าภาคหลวง ค่าอะไรต่อมิอะไร ฯลฯ ถ้าตีความว่าได้รับผลประโยชน์พิเศษจากรัฐ ก็ให้คิดเป็นค่าธรรมเนียมไป อันที่จริง ค่าจิปาถะเหล่านั้น รวมอยู่ในราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นอยู่แล้ว ถ้าสามารถตัดหรือลดภาษีหรือค่ากองทุนรุงรังเหล่านั้นได้ ราคาน้ำมันจะถูกลง 5-6 บาทต่อลิตร คนไทยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงวันละ 130-134 ล้านลิตร เป็นดีเซลที่ถือเป็นน้ำมันพาณิชย์กว่า 62 ล้านลิตร ถ้าลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้เฉลี่ยลิตรละ 5 บาท (จากราคา ลิตรละ 31.15บาท)ราคาสินค้าจะลดลงไม่ต่ำกว่า 15% ข้อเสนอและเรียกร้องนี้ รัฐบาลคงไม่กล้าทำ