รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทย พุ่งสูงขึ้น 90% ต่อจีดีพีมากที่สุดในรอบ 18 ปี ในไตรมาสที่ 1/2564 ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb) คาดการณ์ว่าระดับ หนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564 แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 คือปัจจัยหลักที่ซ้ำเติมให้สถานะทาง การเงินของครัวเรือนไทยเปราะบางมากยิ่งขึ้น ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย ออมเงินมากขึ้น ภาคธุรกิจถดถอย ภาครัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาพยุงให้ประชาชนและธุรกิจคงสภาพคล่องตัวต่อไป ช่วงครึ่งปีหลัง 2564 นี้ รัฐบาลไทยมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนผ่านโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ คนละครึ่งเฟส 3 (ก.ค.-ธ.ค.64) ยิ่งใช้ยิ่งได้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลดค่าไฟฟ้า/น้ำประปา การลดค่าเทอมนักเรียน/นักศึกษา การช่วยผู้ปกครอง 2,000 บาท การเยียวยาจังหวัดสีแดงเข้ม (ผู้ประกันตน ม.33/ม.39/ม.40) เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ฯลฯ โดยรัฐพยายามออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่มก้อน เนื่องจากวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 “ระลอก 3-4” ถือเป็นระลอกที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าทุกระลอกที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยทุกคน แม้ว่าความหนักเบาของผลกระทบจะมากหรือน้อยย่อมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ/วัย กลุ่มอาชีพ พฤติกรรมการออมและ การใช้ชีวิตที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 รัฐมิได้ดำเนินการเฉพาะระดับประชาชนเท่านั้น ยังครอบคลุมถึงเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อยต่าง ๆ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ “หยุดนิ่ง” ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ตัวอย่างมาตรการช่วยเหลือ ต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐ เช่น มาตรการเติมเม็ดเงิน เสริมสภาพคล่อง มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ มาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า มาตรการฟื้นฟู-สร้างงานสร้างอาชีพ มาตรการขยายเวลาเก็บ VAT 7% ต่ออีก 2 ปี โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ สู้วิกฤตโควิด-19 ฯลฯ นอกเหนือไปจากวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว รัฐยังต้องเพิ่มและขยายมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก ‘น้ำท่วม’ ที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำต่าง ๆ ด้วย เช่น ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก ชี มูล โขง สืบเนื่องจากผลกระทบของพายุที่พัดเข้าประเทศซึ่งล่าสุดเป็นพายุลูกที่ 18 และคาดกันว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีพายุราว ๆ 25 ลูก พัดเข้าไทย โดยรวมแล้วมาตรการช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 จะเป็นการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเชิงเศรษฐกิจเป็นเบื้องต้น เพราะจุดเน้นของรัฐในการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจคือ “กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนผ่านเงินรัฐ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีกินมีใช้ ยืดเวลาพักชำระหนี้สิน และต่อลมหายใจให้เจ้าของธุรกิจ” แต่ยังมีอีกหลายฝ่ายที่เห็นว่า มาตรการของรัฐบาลยังไม่พอ ต้องการให้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเรื่องนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “มาตรการช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 ” โดยสำรวจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1. ในช่วงครึ่งปีหลัง (2564) ท่านได้เข้าร่วมมาตรการ/โครงการของภาครัฐใดบ้าง และสำหรับท่านที่ไม่ได้เข้าร่วม เพราะสาเหตุใด 2. ท่านคิดว่ามาตรการ/โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ช่วยลดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายของท่านได้หรือไม่ 3. เปรียบเทียบก่อนกับหลังมีมาตรการ/โครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ การใช้จ่ายของท่านต่อเดือนเป็นอย่างไร 4. ท่านพึงพอใจมาตรการ/โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐในระดับใด 5. โดยภาพรวมท่านพึงพอใจมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมากน้อยเพียงใด 6. ท่านคิดว่ารัฐบาลควรทำมาตรการช่วยเหลืออื่นที่เร่งด่วนอะไรอีกบ้าง วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม นี้ จะได้รู้กันชัด ๆ ว่า ประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อมาตรการช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 ผ่าน “สวนดุสิตโพล” คงต้องติดตามกันละครับ !