แสงไทย เค้าภูไทย
ราคาสินค้าแพงขึ้นทุกวัน ทั้งๆที่ตลาดค้าปลีกค้าส่งถูกปิดเพราะเป็นคลัสเตอร์โควิด-19 เกิดใหม่ แทบทุกเดือน เกษตรกรบางแห่งถึงกับนำผลผลิตออกมาเทประชด แต่ราคาสินค้าจำเป็นกลับแพงไม่หยุด เหตุตอบสนองมาตรการโปรยเงินของรัฐเพิ่มการใช้จ่ายภาคประชาชน
แม้ขณะนี้เกิดอุทกภัยขึ้นเกือบค่อนประเทศ อันทำให้พื้นที่เกษตรกรรมหลายพื้นที่ หลายภาคถูกน้ำท่วมเสียหาย ผลผลิตไม่ได้ออกสู่ตลาดเท่ากับภาวะปกติ
ทว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ไม่สามารถออกมาจับจ่ายซื้อหาได้ ราคาสินค้าจึงเป็นไปตามอุปสงค์ -อุปทาน (demand & supply)ตามธรรมชาติ
ก่อนหน้านี้ ช่วงใช้มาตรการเคอร์ฟิวและการกักตัวอยู่กับบ้านเพื่อลดการติดและแพร่เชื้อโควิดก็เกิดสภาพนี้เช่นกัน
จำนวนคนถูกเลิกจ้างงานนับล้านคน ก็ทำให้จำนวนผู้บริโภคหายไปจากตลาดส่วนใหญ่
แต่การที่รัฐใช้มาตรการแจกเงิน หลายมาตรการ ไม่ว่าจะเงินจ่ายแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการคนจน หรือมาตรการ “เราชนะ” หรือ “คนละครึ่ง”จำนวนหมื่นๆล้านบาท
โดยให้มีการใช้จ่ายในลักษณะบังคับซื้อให้หมดภายในกำหนดเวลา กระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ทำให้ร้านค้ารายย่อยส่วนใหญ่มีเงินสะพัดหมุนเวียนจากการซื้อหาของประชาชน
เพิ่มอัตราเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในส่วนการใช้จ่ายภายในประเทศ (Domestique expenditure) ภาคประชาชนได้ตามเป้าหมาย
จ่ายมา 50,000 ล้าน ประชาชนที่รับสิทธิ์ก็นำไปใช้หมดทุกบาท ทุกสตางค์ทั้ง 50,000 ล้าน
เกิดอุปสงค์ (demand) ขึ้นมาก็จริง แต่ไม่ได้เป็นอุปสงค์ธรรมชาติ เพราะรัฐเอาเงินยัดใส่มือ บังคับให้เอาไปจ่ายให้หมด ตามระยะเวลาที่กำหนด จึงเป็นอุปสงค์ลวง
ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ จึงโก่งราคาสินค้าตามใจชอบ
เพราะร้านค้าและสินค้าที่เข้านร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน
ผู้ซื้อร้อยละเก้าสิบ จะซื้อครั้งละจำนวนมาก สินค้าที่ซื้อล้วนเป็นสินค้าที่เก็บไว้ได้นาน อย่างเช่นน้ำมันพืช อาหารกระป๋อง ข้าวสาร เครื่องปรุงรส บะหมี่สำเร็จรูป เครื่องชำระล้าง ยา เวชภัณฑ์ฯลฯ
ผู้ซื้อบางคนก็เป็นพ่อค้าแม่ขายอาหารปรุงสด เช่นแม่ค้าข้าวแกง พ่อค้าก๋วยเตี๋ยว
ผู้ผลิตผู้ค้าส่งสินค้าเหล่านี้ พากันฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ขานรับมาตรการ
เช่นน้ำมันพืชปรุงอาหาร จากที่เคยขายกันระดับขวดลิตรละ 22-30 บาท ก็โก่งขึ้นเป็น 40-42 บาท น้ำปลา น้ำตาลทราย ข้าวสารถุง ฯลฯขึ้นกันกว่า 50% ทุกชนิด
การที่ประชาชนได้รับเงินมาง่ายๆจากรัฐ ทำให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน ราคาจะขึ้นเท่าใด ก็ไม่รู้สึกเสียดายในการจ่าย ถือว่าได้มาฟรีๆ
อุปสงค์เทียมเช่นนี้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
ถ้าหากกรมการค้าภายในไม่ออกมาทำงานตามหน้าที่ ดูแลสินค้าให้มีราคาเหมาะสม ไม่โก่งราคาเหนือกว่าต้นทุน 50-100% ภาวะเงินเฟ้อจะกลายเป็นตัวกัดกร่อนเศรษฐกิจ
ตอนนี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์พากันพูดถึงภาวะ stagflation ภาวะเงินเฟ้อในเศรษฐกิจชะลอตัว
คือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
ซึ่งตามปกติแล้ว ภาวะว่างงานสูง การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะลดลง เหตุจากมีเงินในมือน้อยหริอบางคนแทบไม่มีกิน
เมื่อการจับจ่ายซื้อหาลดลง ราคาสินค้าก็จะลดลงตามกลไก บางแห่งลดราคาหรือแจกแถม จูงใจซื้อ เพื่อระบายสินค้า
ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ แต่รัฐกลับสร้างอุปสงค์ลวงขึ้นมา
ผลที่ตามมาก็คือ ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น เพื่อต่อสายอุปสงค์ลวงไปเรื่อยๆ หนี้รัฐหนี้ครัวเรือนงอกตามไม่หยุดยั้ง
เหตุจากเงินที่รัฐยัดใส่มือประชาชนนั้น ไปหมุนเวียนในตลาดแค่ช่วงสั้นๆห่วงโซ่อุปทานที่สนองต่ออุปสงค์(ลวง)จึงสั้นและกระจุกตัวอยู่แต่ผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่
ไม่สามารถสร้างงานมาทดแทนงานที่ประชาชนสูญเสียไปกับการปิดกิจการ เลิกจ้างได้
เศรษฐกิจจึงชะลอตัว แนวโน้มจะกลายเป็นภาวะถดถอย (recession)
ยิ่งถ้ามีตัวเร่งจากภาวะน้ำท่วมรุนแรงและการกลับมาระบาดใหญ่อีกระลอกของไวรัสโควิด-19 จากการเปิดประเทศในภาวะที่ยังไม่พร้อม
สาหัสเกินจะคาดคะเนได้