เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
ประชาธิปไตยน้ำ (democratization of water) คือการให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการน้ำ อันเป็นแนวทางในประเทศพัฒนา ไม่ใช่ให้เป็นแต่หน้าที่ของรัฐอย่างในประเทศด้อยพัฒนา
ประเทศไทยมีหน่วยงานหลายสิบที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การจัดการน้ำ จนที่สุดมีการจัดตั้ง สถาบันและศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 อ่านดูรายละเอียดของแนวคิดและภารกิจดูเหมือนจะ “ทำทุกอย่าง” ที่องค์กรต่างๆ ทำอยู่แล้ว
โดยเฉพาะเรื่อง “ข้อมูล” ซึ่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ดำเนินการมาตั้งปี 2547 ในพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเน้นเรื่องข้อมูลและการวางแผนและดำเนินการอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงกับเรื่องการเกษตรเป็นสำคัญ โครงการพระราชดำริส่วนใหญ่หรือมากกว่าครึ่งจึงเกี่ยวกับน้ำ
โครงการพระราชดำริเรื่องน้ำไม่ได้มีแต่เรื่องเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ แต่มีทั้งแก้มลิง และการบูรณาการนิเวศน้ำในแต่ละพื้นที่ การส่งเสริมให้ชุมชนริเริ่มแนวทางแก้ปัญหาน้ำ โดยมีการสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในครัวเรือน อย่างโครงการ “น้ำบวกใจจากในหลวง” เมื่อ 30 ปีก่อน
มีการส่งเสริมการพัฒนาและจัดการแหล่งน้ำโดยชุมชน มีการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริฯ ทุกปี โดยมูลนิธิชัยพัฒนา
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปในพื้นที่ต่างๆ ทั้งเพื่อเยี่ยมราษฎรและเพื่อได้ข้อมูลทางตรงเรื่องปัญหาน้ำ โดยไม่ได้ทรงรับฟังแต่จากข้าราชการ แต่จากราษฎร จากชาวบ้านเอง เราจึงคุ้นกับภาพทรงประทับกับพื้น พร้อมกับกางแผนที่และสนทนากับชาวนาที่นุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว เพื่อทรงถามเรื่อง “น้ำ” ในพื้นที่บุรีรัมย์แห่งนั้น โดยไม่ได้มีการจัดฉากหรือเตรียมกันมาก่อน
ไม่ใช่เพียงภาพเช่นนี้ที่เราอยากเห็นผู้นำรัฐบาลไทยเวลาลงไป “พื้นที่” แต่อยากเห็น “ท่าที” ที่ไปเพื่อเรียนรู้ รับฟังชาวบ้านผู้ประสบปัญหาจริง ไม่ใช่ไปแบบช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง ไป “ดูสถานการณ์” ไปฟังข้อมูลจากข้าราชการ นักการเมือง ที่ไปรุมต้อนรับ แล้วสั่งการ ไม่ได้มี “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” แม้แต่น้อย มีแต่การจัดฉากจากทุกภาคส่วนเพื่อของบประมาณ
ประชาธิปไตยน้ำ (democratization of water) เกิดในประเทศที่เคารพสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการจัดการน้ำ ทั้งเพื่อการบริโภคและการเกษตร อุตสาหกรรม มีแผนงานแบบบูรณาการในทุกระดับ และทุกรูปแบบตามสภาพการณ์ของน้ำ
น้ำที่มาแบบพายุก็เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐต้องรับผิดชอบในด้านการป้องกันผลกระทบที่รุนแรง และแก้ไขเมื่อเกิดผลเสียหาย น้ำท่วมหนัก น้ำที่มากับฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วม ซึ่งก็มีข้อมูลมาหลายสิบปี และน่าจะมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม
ที่สำคัญ ให้สัมพันธ์กับน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้วยหนองคลองบึง แหล่งน้ำธรรมชาติ และเขื่อน อ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ที่จัดการกักเก็บน้ำให้ได้ใช้อย่างพอเพียงตลอดปี
ที่น่าประหลาดใจ คือ ทั้งๆ ที่มีข้อมูล และมีประสบการณ์มานานหลายสิบปี ว่าฝนตกแค่ไหน น้ำท่วม จะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้ท่วม และมีน้ำไว้ในหน้าแล้ง แต่ฝนมาก็ท่วม ร้อนมาก็แล้ง ขณะที่ประเทศอย่างเวียดนามที่โดนพายุน้อยใหญ่หนักกว่าไทยมาก กลับบริหารจัดการน้ำได้ดี มีชลประทานที่ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรได้เกือบหมด ของไทยหลายภาคมีไม่ถึงร้อยละ 10 ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคกลาง
ประเทศอิสราเอลฝนตกปีละ 500 มม. แต่จัดการน้ำเพื่อการเกษตร เปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นป่าเป็นสวนเป็นไร่นา ส่งออกผลผลิตทางการเกษตร และที่น่าประหลาดใจ คือ ส่งออกน้ำจืดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ประชาธิปไตยน้ำ หมายถึงการให้โอกาสชุมชนได้เรียนรู้ ได้พัฒนาการจัดการน้ำด้วยตนเอง อย่างเรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ต้องถือว่าเป็นนวัตกรรมของชุมชน รัฐบาลก็ไม่เห็นให้การส่งเสริมสนับสนุนจริงจังอะไร บรรดานักการเมืองก็คิดแต่โครงการเมกะโปรเจกต์ เพราะมีผลประโยชน์ น้ำท่วมใหญ่ทีก็ปล่อยให้ดารานักร้องนักแสดงเรี่ยไรไปช่วย
“แก้มลิง” เป็นนวัตกรรมของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขณะที่ธนาคารน้ำใต้ดิน คือ แก้มลิงของชาวบ้านที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี กักเก็บน้ำไม่ให้ไหลลงแม่น้ำลำคลองและลงทะเลเท่านั้น แต่ลงไปใต้ดินเพื่อจะได้เก็บไว้ใช้บริโภคและการเกษตร แก้ปัญหาน้ำท่วมชุมชน เพราะระบายลงใต้ดินได้เร็ว แก้ปัญหาการหมักหมมของเชื้อโรค และยุงได้ดี
ประชาธิปไตย คือ อำนาจของคนเล็กๆ ที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอธิปไตยตัวจริง ซึ่งถูกยึดหรือถูกขโมยไปโดยคนที่ปืนและมีเงิน ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการน้ำเอง และก็ได้ผลอย่างที่เห็น คือ ตกหนักก็ท่วม ซ้ำซากชั่วนาตาปี เหมือนประชาธิปไตยไทยที่ผูกขาด
ประชาธิปไตยน้ำ คือ การร่วมกันแก้ปัญหาโดยประชาชนทั้งประเทศ ผนึกพลังกัน ก็จะเกิดผลเป็นทวีคูณ (synergy) และร่วมกันแก้แบบบูรณาการกับชีวิตจริง กับการเกษตร การพัฒนาโดยรวม
คำว่า “แห่งชาติ” ที่เติมอย่างศูนย์อำนวยการน้ำ ฟังดูดี ที่ด้านหนึ่งก็สะท้อนวิธีคิดของการผูกขาดรวมศูนย์ไปยังรัฐบาลและอำนาจรัฐ เพราะคิดเองว่า “ชาติ” หมายถึง “รัฐ” หมายถึง “รัฐบาล” ชื่อที่สะท้อนกระบวนทัศน์ วิสัยทัศน์ของรัฐบาล
ถ้าปรับเปลี่ยนวิธีคิดได้ ก็เปลี่ยนชื่อว่า “ศูนย์อำนวยการน้ำแบบบูรณาการ” ทำหน้าที่ประสานไม่ใช่แต่หน่วยงานของภาครัฐ แต่ประสานกับภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคชุมชน ที่ไม่ได้มีแต่การขุดสระ โคกหนองนา หรือธนาคารน้ำใต้ดิน แต่รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ซึ่งเป็น “ธนาคารน้ำ” โดยธรรมชาติ