กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดทำโครงการ การประเมินแบบเร่งด่วน (Rapid Appraisal) เพื่อทำให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคของการปฏิบัติจริงในพื้นที่ที่สะท้อนถึงนโยบายต่างๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผลการประเมินพบว่าผู้เรียนต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site ร้อยละ 94 โดยความพร้อมของผู้เรียนสำหรับการเปิดเรียนแบบ On-Site อยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุด ซึ่งผู้เรียนส่วนมากต้องการให้มีการสลับวันมาเรียนเพื่อลดจำนวนเพื่อนร่วมชั้นและจัดห้องเรียนโดยเว้นระยะห่าง และให้มีการผสมผสานการเรียนทั้งแบบ Online และ On-Site ตลอดจนให้ลดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม รวมถึงมีความต้องการในเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 การจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ การจัดหาหน้ากากอนามัย ชุดตรวจโควิด-19 และเครื่องวัดอุณหภูมิที่โรงเรียนด้วย ในส่วนของผู้ปกครองต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site เป็นจำนวนร้อยละ 90 เพราะต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้อย่างเต็มที่และได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อลดภาระผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรหลานในการเรียน Online โดยให้มีการสลับวันมาเรียน เพื่อลดจำนวนผู้เรียนในชั้นเรียน ลดการจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มเพื่อรักษาระยะห่าง มีการผสมผสานการเรียนทั้งแบบ Online และ On-Site และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เรียนเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด แต่ยังคงมีความกังวลในเรื่องของการเปิดเรียนแบบ On-Site อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก ในเรื่องของการดูแลตนเองของบุตรหลาน การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาตามมาตรการการป้องกันโควิด-19 รวมถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ปัญหาการเดินทางและค่าใช้จ่ายด้วย ขณะที่ ครูต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site เป็นจำนวนร้อยละ 88 โดยมีความพร้อมในด้านการจัดการเรียนสอนแบบ On-Site อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด และในด้านการดูแลผู้เรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในสถานศึกษา อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด โดยครูมีความคิดเห็นว่า การเปิดเรียนแบบ On-Site สามารถทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่และลงมือปฏิบัติได้จริง และครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างครบถ้วนตามหลักสูตร แต่ยังคงมีความกังวลด้านการจัดการเรียนการสอน เรื่องความพร้อมของผู้เรียนที่ต้องปรับตัวจากการเรียน Online และความต่อเนื่องของการจัดการเรียนการสอนจากการเรียน Online ความกังวลในเรื่องของสื่อการเรียนการสอนที่ไม่ได้ใช้มาเป็นเวลานานอาจไม่พร้อมใช้งาน เช่น เครื่องมือในห้องวิทยาศาสตร์ รวมถึงมาตรการการป้องกันโควิด-19 ของสถานศึกษา การรวมกลุ่มของผู้เรียน และการรับวัคซีนของครูและนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนด้วยทั้งนี้ ครูส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม และต้องการให้มีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานศึกษาและมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานศึกษาด้วย ซึ่งการเปิดเรียนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จากผลการประเมินดังกล่าว เราเห็นว่าน่าจะมีความหวัง ในการวางแผนเปิดโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษาที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดนั้น อยู่ในช่วงของการวางรากฐานของการศึกษา หากรากฐานไม่แน่นก็ยากที่เด็กจะมีคุณภาพ ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม และสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการศึกษา