ช่วงเดือนตุลาคมนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ สำหรับสถานการณ์โควิด ที่จะชี้ชะตาว่าปีใหม่นี้จะมีเฮหรือต้องเซกันต่อไป โดยเฉพาะตัวเลขยอดตัวเลขตรวจคัดกรองโควิด ATK ที่มีสัญญาณไม่ดีพุ่งแตะหลักหมื่น โดยเฉพาะแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ระยะที่ 2 ที่เลื่อนมาแล้วจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ต้องลุ้นให้ไปรอดและไม่เลื่อนอีกครั้ง ฟังจากทางรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในเพจเฟวบุ๊กส่วนตัวชี้ 2 บทเรียนที่ควรตระหนักไว้ว่า “1. ผลกระทบจากนโยบายกล่องทรายทำให้เห็นการระบาดที่รุนแรงขึ้นในภาคใต้ดังที่กำลังเผชิญอยู่ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการมาจากต่างประเทศ แต่ส่วนสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การทำให้จำนวนประชากรที่หมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น เกิดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการพบปะติดต่อสังสรรค์มากขึ้น จึงทำให้ระบาดหนักขึ้น ตราบใดที่ไม่กดการระบาดให้ดีพอ แล้วไปเปิดเมือง เปิดท่องเที่ยว เปิดประเทศ ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องโอกาสที่จะระบาดหนักกลับซ้ำขึ้นมา ถามว่าต้องกดการระบาดไปถึงแค่ไหน ถึงจะลองเปิดดูได้ คำตอบมาจากงานวิจัยฝั่งยุโรป ชี้ให้เห็นว่า อาจมีโอกาสสร้างสมดุลเศรษฐกิจกับการระบาดได้ หากติดเชื้อใหม่ต่อวัน ไม่เกิน 10 คนต่อประชากร 1,000,000 คน ดังนั้นหากคิดย้อนกลับไป เราจึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดแต่ละพื้นที่ข้างต้น จึงเป็นดังเช่นปัจจุบัน เหตุผลตรงไปตรงมาที่สุดคือ ไปเปิดในขณะที่สถานการณ์ระบาดยังไม่ดีพอนั่นเอง 2. ผลลบปลอมจากการใช้ชุดตรวจไว ATK หากค่าความไวของชุดตรวจไม่มาก จะทำให้เกิดผลลบปลอมได้สูง นั่นคือคนที่ติดเชื้อแต่ตรวจแล้วกลับได้ผลลบ จำนวนคนที่ตรวจแล้วได้ผลลบเหล่านั้นย่อมนำไปสู่โอกาสที่จะนำเชื้อไปแพร่ต่อเนื่องในชุมชนที่อยู่อาศัยนั่นเองสิ่งที่ควรทำคือ การขยายระบบการตรวจคัดกรองมาตรฐาน RT-PCR และกลไกการประสานงานส่งต่อสิ่งส่งตรวจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้วิธีตรวจนี้เป็นมาตรฐาน ให้คนเข้าถึงได้โดยอิสระ ไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะหากระบบนี้ไม่เกิดขึ้นมา หรือไม่มีศักยภาพที่จะทำได้มากเพียงพอ การประกาศนโยบายเปิดเมือง เปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศท่ามกลางสถานการณ์ระบาดรุนแรงต่อเนื่อง จะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เราเข้าสู่การระบาดหนักซ้ำปลายปี เป็น Blue or Black New Year และเกิดผลกระทบมากมายและยาวนานได้” กว่า 2 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยไม่ได้เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กันอย่างเต็มที่ และทุกคนต้องการคืนชีวิตที่มีความสุขเหมือนเดิม ในขณะที่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวก็ต้องขับเคลื่อน ปัจจัยเรื่องของการฉีดวัคซีนจึงเป็นอาวุธสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติแบบวิถีใหม่ เพราะถึงแม้จะติดเชื้อโควิด แต่อาการจะไม่รุนแรง แม้จะเป็นปีใหม่ที่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แต่ก็อยากให้ปีนี้คนไทยได้เฉลิมฉลองกัน เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็ว