“...กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัย ที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตาม แม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเต็มที่ ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมาย แต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต และกฎหมายไม่ควรคุ้มครองจนเกินเลยไป เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรจะถือว่าการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแต่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย ข้าพเจ้าปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นท่านทั้งหลายฝึกหัดตนให้เป็นคนกล้า คือ กล้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามความถูกต้องเที่ยงตรงทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพลหรืออคติใดๆทั้งหมด ให้เป็นคนที่มั่นคงในสัตย์สุจริตและความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ปล่อยให้ความสุจริตยุติธรรมถูฏข่มยีให้มัวหมองได้ ทั้งนี้ เพื่อท่านจักได้สามารถกำจัดสิ่งที่เรียกว่า ช่องโหว่ในกฎหมายให้บรรเทาเบาบางและหมดสิ้นไป”(พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 29 ตุลาคม 2552
“หลักนิติธรรม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจัดกัดความเอาไว้คือ “หลักพื้นฐานแห่งกฎหมายที่บุคคลทุกคนทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน”
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับการปกครอง” ให้แก่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคต้น ปีการศึกษา 2564 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในรายวิชากฎหมายบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ ผ่านระบบออนไลน์ (โปรแกรม Zoom)ว่า หลักนิติธรรมกับการปกครองอยู่คู่กันมาตามวิถีทางประชาธิปไตยมาหลายยุคหลายสมัย ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในแต่ละสาขาอาชีพหากยึดถือหลักการความถูกต้องชอบธรรม เคารพกฎหมาย ยึดหลักความเสมอภาค การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เห็นได้ถึงการปกครองที่อยู่ภายใต้หลักนิติธรรมอย่างแท้จริง ประเทศไทยปกครองด้วยระบบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายหากคำนึงถึงหลักนิติธรรมประเทศ ก็จะเกิดความเรียบร้อย ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งที่สำคัญในภาคปฏิบัติ หลักประกันสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข คือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องไม่ละเลย การดำเนินการตามหลักนิติธรรม ซึ่งหลักนิติธรรมจะสัมฤทธิ์ผลได้ หาใช่เพราะบัญญัติไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ “หลักนิติธรรม”ย่อมเกิดผลสัมฤทธิ์จาก “ภาคปฏิบัติ” อย่างแท้จริง
นายชวน กล่าวต่อว่า ซึ่งในการการบัญญัติเรื่อง “หลักนิติธรรม”ไว้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักร่วมกัน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่จำเป็นที่จะต้องยึด “หลักนิติธรรม” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้ระบบการปกครอง หลักแบ่งแยกอำนาจ มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง สมควรที่จะต้องกำหนด นโยบายและวางระเบียบปฏิบัติราช การ รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อให้การจัดระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือที่เรียกกันว่าหลักธรรมาภิบาล มี 6 ประการ 1. หลักนิติธรรม 2. หลักคุณธรรม 3. หลักความโปร่งใส 4. หลักความมีส่วนร่วม 5. หลักความรับผิดชอบ 6. หลักความคุ้มค่า ซึ่งทั้ง 6 ข้อ เป็นหลักการสำคัญและส่วนตัวเห็นว่าควรเพิ่ม ข้อ 7. คือจะต้องไม่เกรงใจไปทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง…
…ปัญหาของบ้านเมืองในเวลานี้ ได้มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นในหลายด้าน จะเห็นได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาที่สำคัญคือการละเลยไม่ดำเนินการตามหลักนิติธรรม ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่บ้านเมืองใดที่มีหลักนิติธรรมแล้วบ้านเมืองนั้นจะบังเกิดแต่ความสงบเรียบร้อย แต่การปฏิบัติโดยยืดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างแท้จริงย่อมเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งที่จะส่งผลให้บ้านเมืองนั้นมีความสงบเรียบร้อย มั่นคง และยั่งยืน”
ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ผู้ปกครองจำเป็นต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรม โดยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดๆ ก็ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย