ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
“นวพล ลีนิน” หรือ “โกดอง สุไหงปาดี” ชื่อนี้สำหรับผู้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ อาจคุ้นเคยพอสมควร เพราะเขานับเป็นเพียงไม่กี่คนในกลุ่มคนไทยพุทธ ที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์อยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเขียนบทความ สารคดี ฯลฯ โดยโครงการที่มีการกล่าวถึงกันมากในฐานะที่เขามีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในขบวนการขับเคลื่อน คือ การก่อตัวของ “กลุ่มเยาวชนเมล็ดพันธุ์สันติวิถีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” กับโครงการ “รถไฟสายสันติภาพ : จากสุคิรินถึงคลิตี้ล่าง แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมข้ามชาติพันธุ์” กับกิจกรรมการรณรงค์ แจกแถลงการณ์ อ่านแถลงการณ์ เปิดเวทีแสดงศิลปวัฒนธรรมจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสวนา ฯลฯ
ล่าสุด ผู้เขียนพบกับเขาและผองเพื่อนในนามกลุ่ม “ศิลปะเพื่อสันติภาพ” จาก 4 ภาค ตัวแทนจากภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ประกอบด้วยนักดนตรี ได้แก่ วงสันติชน วงผ้าขาวม้า กวี/นักเขียน ได้แก่ ประเสริฐ จันทร์ นวลีย์ แพรวา ที่มาร่วมขับขานเรื่องราวการเดินทาง “เราไม่เพียงแต่ฝัน แต่เราต้องการสันติภาพ” ในงานมหกรรมศิลปะ ดนตรี กวี ภาพถ่าย และหนังสั้น “เรายังฝันถึง... สันติภาพ” ที่ จ.นราธิวาส ต่อมาจึงทราบว่า เขาและผองเพื่อนซึ่งล้วนรักการเดินทาง ดนตรี ศิลปะ งานเขียน และบทกวี เดินทางมาพบกันด้วยวาระของกิจกรรมเยาวชนและการขับเคลื่อนศิลปะเพื่อสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะนำไปสู่การปรากฏตัวของ “นิตยสารป่านวงเดือน”
กล่าวได้ว่า “ป่านวงเดือน” เป็นชื่อหนังสือของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกัน ช่องทางที่ทำให้พวกเขามาพบกันคือการเดินทางในนาม “ศิลปะเพื่อสันติภาพ” ผ่านกิจกรรมเยาวชนเพื่อให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ เริ่มต้นจากการร่วมกันจัดงาน “สุไหงปาดีดีจัง” และเริ่มคุยเป็นจริงเป็นจังอีกครั้งในวงเสวนา “มโนราห์โรงครู ศิลปวัฒนธรรมชุมชนสู่พื้นที่สร้างสรรค์สันติวัฒนธรรม” ที่บ้านตลิ่งสูง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ช่วงกลางปี 2559 โดยมโนราห์โรงครูเป็นพิธีไหว้ครูหมอตายายมโนราห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปวัฒนธรรมที่กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการเลือนหายไปตามจังหวะกาล จึงเป็นโอกาสดีที่ทำให้พวกเขาได้จัดกิจกรรมไปพร้อมกัน จากนั้นนำไปสู่การพยายามรวมกลุ่มโดยใช้ช่องทางในโลกโซเชียล (Social Media) เริ่มจัดทำนิตยสารเล่มแรก โดยยกเรื่อง “มโนราห์โรงครู จิตวิญญาณและการเยียวยา” จากพิธีการสื่อสารตามความเชื่อระหว่างบรรพบุรุษมโนราห์กับลูกหลาน เป็นหลักนำไปสู่การสื่อสารสู่สังคมวงกว้าง
การลุกขึ้นมาร่วมกันจัดทำนิตยสารป่านวงเดือน เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ชายแดนใต้อีกมิติหนึ่ง สำหรับ “นวพล ลีนิน” ในฐานะแกนนำและรับบทบาท “บรรณาธิการบริหาร” และทีมงานทั้งหมด เพราะโดยพื้นฐานแล้วเขายอมรับว่า ด้วยวัยและประสบการณ์ทำให้เป็นคนมีความขัดแย้งในความคิดของตัวเองมาก่อน กระทั่งผ่านการค้นพบตัวเองพอสมควรจนมาลงตัวที่ความเข้าใจในพลังอำนาจของศิลปวัฒนธรรม
“ผมเคยคิดสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะแพทย์ ตอนเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ทั้งที่ผลการเรียนแย่มาก แต่อยากเป็นหมอ เพราะฟังเพลงเพื่อชีวิตจากรายการของคุณภิญโญ รุ่งสมัย คืออยากเป็นหมอเพื่อเดินทางออกสู่ชนบทไปดูแลรักษาคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสทางสาธารณสุข สุดท้ายเมื่อไม่สามารถเดินตามฝันได้ จึงหันเหมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2537 กระทั่งจบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์” เขาพูดถึงเส้นทางชีวิตในวัยหนุ่ม
ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้เขามีโอกาสทำกิจกรรมมากมาย ทั้งรับบทในฐานะ “ประธานกลุ่มนักศึกษาจังหวัดนราธิวาส” มหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกองค์การนักศึกษา แต่ที่น่าสนใจคือ ได้พบปะกลุ่มวรรณศิลป์ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงสมัยนั้น โดยลงมือเขียนบทกวีส่งเสนอเพื่อลงตีพิมพ์ตามสื่อสิ่งพิมพ์อยู่บ้างภายใต้นามปากกา “แบด๋อง ลีนิน สุไหงปาดี” หากทว่าสิ่งสำคัญคือ เวลานั้นเขายังไม่เชื่อในพลังอำนาจของศิลปวัฒนธรรมมากนัก ยังคิดว่าอำนาจที่แท้จริงคือการเมือง การต่อสู้แย่งชิง ในระหว่างเรียนจึงมีเหตุให้เกิดคดีความจากการทำกิจกรรม และเริ่มห่างหายจากการเขียนบทกวีส่งสำนักพิมพ์ คงมีพื้นที่เงียบๆ เขียนสมุดบันทึกให้กับตัวเอง
เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมา ผ่านการสั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ขัดแย้งชายแดนใต้บ้านเกิด ซึ่งแทบจะเป็น “พื้นที่ปิด” เพราะหลายคนไม่กล้าลงไปสัมผัส ไปเรียนรู้ควาจริง เขาจึงบอกเล่าว่า การก่อเกิดของนิตยสารป่านวงเดือน คือดอกผลของกิจกรรมของคนรักสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ ผ่านผู้ร่วมก่อตั้งที่มีทั้งคนในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ เช่น แพรวา (คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร) จากกลุ่มนักเขียนทางภาคอีสานซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมในพื้นที่ เธอบอกว่าการได้ติดตามเรื่องราวจากข่าวสารและสื่อช่องทางต่างๆ จนกระทั่งได้มาสัมผัสสถานที่จริง ณ ที่เกิดเหตุ เธอพบพลังดึงดูดบางอย่างหลังจากเดินทางเรียนรู้ครบทั้ง 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่สำคัญ ทำให้มีโอกาสได้พบพานพี่น้องชาวอีสานที่มาตั้งถิ่นฐานที่นี้ จึงเริ่มต้นทำงานร่วมกันจากที่ไม่มีต้นทุนทางการเงินเลย แต่กลับรู้สึกสนุกในการสื่อสารศิลปวัฒนธรรมระหว่างกัน ทั้งในฐานะคนในและนอกพื้นที่
“โลกออนไลน์ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมอีกครั้ง ผมเดินทางไปทำงานหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในบ้านเกิดตนเองช่วงที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรง ผมโชคดีที่ได้ทำงานจริงจังในพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นเกิดและเติบโต ซึ่งหลายคนอาจคิดกลับกันว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ เพราะผมได้เดินทางไปยังพื้นที่ลึกๆ ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง และในที่สุดเครื่องมือสื่อสารก็ช่วยให้เราเผยแพร่สิ่งที่พบเห็นได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เกิดเป็นคำถามต่อมาคือ ผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงนี้”
ผ่านการสังเกตเรียนรู้จนพบความจริงในวิถีการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่แตกต่าง ขณะเดียวกันปัญหาที่พบในพื้นที่ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ตัดสินใจศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น กระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเชื่อว่าการศึกษาช่วยทำให้วิเคราะห์ปัญหาได้กว้างขึ้น ในแนวทางที่กำลังสนใจและนำเสนอต่อสังคม กระบวนการสร้างวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันของผู้คน “ศิลปวัฒนธรรม” คือ เครื่องมือที่สำคัญในการประสานเชื่อมผู้คน เพราะมีพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เมื่อสามารถขจัดความกลัวของผู้คน ย่อมจะนำผลไปสู่ “พื้นที่สันติวัฒนธรรม”
“ป่านวงเดือน” กลายเป็นนิตยสารน้องใหม่ที่บรรจุด้วยหลากหลายเรื่องราวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศไทย (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ซึ่งทีมงานมองว่า เดิมเรื่องราวในพื้นที่มักจะถูกถ่ายทอดโดยสื่อภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ต่างคุ้นชินกับภาพเหตุการณ์ระเบิด ควันปืน และความตาย จนพื้นที่แห่งนี้ถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งมิคสัญญี หารู้ไม่ว่า... สิ่งที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่อันคุกรุ่นไปด้วยห่ากระสุนและควันปืนแห่งนี้ มีความดี ความงาม ด้านศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมถึงสถานที่ทางธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์ งดงาม มีมนต์ขลัง มีเสน่ห์ น่าค้นหา
ถึงเวลาแล้วที่คนในพื้นที่และผู้ที่มีความรักต่อดินแดนปลายด้ามขวาน จะได้มาบอกเล่าเรื่องราว ความจริง ความดี และความงาม ของทั้ง 3 จังหวัด การเปิดตัวของนิตยสารป่านวงเดือนฉบับปฐมฤกษ์ กับเรื่องราวของ "มโนราห์โรงครู : จิตวิญญาณและการเยียวยา" ซึ่งเริ่มวางแผงวันที่ 15 กันยายนนี้ จึงนับเป็นความท้าทายอีกครั้งของ “นวพล ลีนิน” และผองเพื่อน เป้าหมายสำคัญคือการเชื่อมโลกต่างพื้นที่เข้าด้วยกันผ่านงาน “ศิลปวัฒนธรรม”