ณรงค์ ใจหาญ ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดอาญา นิติบุคคลนั้นจะต้องรับผิด โดยแยกต่างหากจากผู้บริหารนิติบุคคล เช่น ผู้จัดการ ประธานกรรมการบริหาร เป็นต้น ทั้งนี้เพราะในความรับผิดทางอาญานั้น เป็นความรับผิดที่แยกจากกันแม้ว่าในทางแพ่ง การดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลผูกพันธ์นิติบุคคลจะต้องกระทำโดยผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ทำการแทนโดยชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการลงนามแทนนิติบุคคล และต้องกระทำภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น แต่ในทางอาญานั้น เป็นเรื่องที่ต้องกระทำเฉพาะตัว หากนิติบุคคคลกระทำความผิดและผู้จัดการหรือผู้บริหารนิติบุคคลจะต้องรับผิดร่วมด้วยก็ต้องได้ความว่า ได้มีการกระทำที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ร่วมกับนิติบุคคลนั้น เพราะในการพิจารณาความรับผิดทางอาญา มีความแตกต่างจากความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งต้องได้ความว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดด้วยจึงจะต้องรับผิด กฎหมายไทยหลายฉบับมีบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้บริหารนิติบุคคลต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดทางอาญา โดยกำหนดให้ผู้จัดการ กรรมการ วิศวกร สถาปนิก หรือเจ้าหน้าที่ร่วมรับผิดกับนิติบุคคลด้วย ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินั้น ๆ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้รับผิดทางอาญา ร่วมกับนิติบุคคลโดยไม่ได้มีการกระทำความผิดร่วมด้วย และผลักภาระในการพิสูจน์แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดแก่ผู้บริหารนิติบุคคล แทนที่จะเป็นหน้าที่ของโจทก์ในการนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงการกระทำที่เป็นการร่วมกันกระทำความผิดหรือเป็นส่วนหนึงของการกระทำความผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้น ประเด็นนี้เอง ได้ขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายคดี คดีแรกเป็นกฎหมายว่าด้วยขายตรง ซี่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการกำหนดให้ผู้บริหารนิติบุคคลร่วมรับผิดกับนิติบุคคลที่กระทำความผิดอาญาตามกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า โดยหลักแล้วบุคคลย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่จะลงโทษผู้ใด โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด การที่นิติบุคคลกระทำความผิด ไม่ได้หมายความว่า ผู้บริหารนิติบุคคลจะร่วมกระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะมีพฤติการที่ทำให้เห็นได้ขัดเจนว่ามีส่วนในกากระทำความผิดด้วย จึงจะต้องรับผิด ด้วยเหตุนี้ การที่กฎหมายกำหนดความรับผิดโดยอัตโนมัติว่า เมื่อนิติบุคคลกระทำความผิดแล้ว ผู้บริหารนิติบุคคล หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวเข่น วิศวกร สถาปนิก หรือคนงานที่ดูแลเครื่องจักร ต้องรับผิดร่วมด้วย จึงเป็นข้อสันนิษฐานที่ทำให้เห็นว่า การกระทำของนิติบุคคลเป็นการกระทำของบุคคลที่ต้องร่วมรับผิดโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์การกระทำของบุคคลเหล่านั้นก่อน ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ทำให้ผู้บริหารนิติบุคคลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกระทำความผิดแล้ว โดยที่ยังไม่มีพฤติการณ์ซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบเนื่องจากเป็นคนนำคดีมาฟ้อง จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ต่อศาลไม่ใช่ผลักภาระการพิสูจน์ไปให้จำเลย ซึ่งในสายตากฎหมายถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เป็นหลักสำคัญในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และถือเป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ด้วยเหตุนี้ บทบัญญัติในกฎหมายที่กำหนดให้ผู้บริหารนิติบุคคลรับผิดร่วมกับนิติบุคคลจึงเป็นบทบัญญัติที่ใข้ไม่ได้ จึงเกิดกระบวนการที่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามหลักประกันสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีอยู่ในกฎหมายพิเศษหลายฉบับ จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายในภาพรวมให้เป็นไปตามหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ในขณะที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกฎหมายเฉพาะอื่นๆ การวินิจฉัยของศาลก็ยังคงต้องถือหลักที่ว่าบทบัญญัตินั้นๆ แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการให้นำสืบพิสูจน์ความเกี่ยวพันของการกระทำของผู้บริหารนิติบุคคล กับการกระทำของนิติบุคคลเพื่อใช้ในการวินิจฉัยคดี แทนที่จะถือตามหลักข้อกำหนดตามบทบัญญัติที่ให้ต้องรับผิดร่วมด้วยโดยอัตโนมัติ ส่วนพนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ก็คงต้องนำสืบพิสูจน์การกระทำของผู้บริหารนิติบุคคลที่ถูกฟ้องว่าร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลด้วย ปัญหาน่าคิดว่า นิติบุคคลเป็นบุคคลที่สมมติขึ้นตามกฎหมาย ไม่มีตัวตน ไม่มีร่างกาย แต่กระทำโดยคณะบุคคล ที่แสดงออกโดยกรรมการผู้จัดการ กรรมบริหาร เป็นต้น การกระทำของนิติบุคคล จึงเป็นการกระทำของคณะกรรมการบริหาร โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น เข่น บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการค้าระหว่างประเทศ เมื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแล้ว หากกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางการค้า ต้องถือว่านิติบุคคลกระทำความผิด ซึ่งก็คือ การกระทำของผู้จัดการ หรือกรรมการบริษัท นั่นเอง ที่สั่งการหรือดำเนินการมิให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ลักษณะของการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของผู้บริหารนิติบุคคลจึงเป็นการพิสูจน์การกระทำของผู้บริหารนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง หรือโดยสายการบังคับบัญชาที่ต้องดูแลในเรื่อ่งนั้นโดยตรง หรือการกระทำที่เป็นการงดเว้นไม่ป้องกันผลที่จะเกิดขึ้น ผู้บริหารนิติบุคคลนั้นจึงต้องรับผิด ซี่งในประเด็นนี้ อาจเป็นการกระทำความผิดที่ต้องพิสูจน์ว่ามีกระทำอันก่อให้เกิดความผิดขึ้น แต่จะถือว่าเป็นตัวการก็คงจะยากเพราะนิติบุคคลไม่มีตัวตนในการที่จะร่วมคิดกับคนธรรมดาในการกระทำความผิดด้วย ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ได้กำหนดการดำเนินคดีกับนิติบุคคลไว้แล้ว คือ พนักงานสอบสวนจะเรียกนิติบุคคลที่กระทำความผิดมาได้ แต่เนื่องจากไม่มีตัวตนที่เป็นร่างกาย เพราะเป็นบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้น ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลที่เรียกชื่ออย่างอื่น จะต้องมาแทน และให้การในนามนิติบุคคล แต่จะควบคุมตัวผู้จัดการไม่ได้เพราะผู้จัดการไม่ได้กระทำความผิด เว้นแต่จะมีการแจ้งข้อหาแก่ผู้จัดการหรือผู้บริหารนิติบุคคลว่าได้ร่วมกระทำความผิดนั้นด้วยจึงจะควบคุมและดำเนินคดีในฐานะผู้ต้องหาด้วย หลักที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ในมาตรา 7 แสดงให้เห็นขัดเจนว่า การกระทำของนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้บริหารนิติบุคคล เว้นแต่จะมีหลักฐานว่ามีส่วนร่วมจึงจะดำเนินคดีได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และหลักโจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ความผิดจำเลย ไม่ใช่ให้จำเลยเป็นผู้พิสูจน์ว่าตนไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ให้จำเลยในการพิสูจน์แก้ตัว การวางหลักในเรื่องนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาความรับผิดของผู้บริหารนิติบุคคลอีกระดับหนึ่งที่ว่า ผู้บริหารระดับใดที่จะต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลดัวย เพราะเดิมมีปัญหาการตีความว่า ผู้บริหารนิติบุคคล ในบางบริษัท หรือบางองค์กรเป็นผู้บริหารที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย และมีภาระเพียงกำกับดูแล แต่เมื่อมีข้อสันนิษฐานที่ต้องรับผิดจึงเป็นการไม่เป็นธรรมกับผู้บริหารระดับนโยบายหรือกำกับดูแลนี้ ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารนิติบุคคลที่จะต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลที่กระทำความผิดจึงควรตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า เพราะผู้บริหารเหล่านี้มีส่วนในการกระทำความผิดให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ให้ต้องรับผิดโดยอัตโนมัติเหมือนในกฎหมายพิเศษบางฉบับ การปรับแก้ดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดมาตรฐานในการกำหนดความรับผิดของนิติบุคคลที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น