ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต ดุลยภาพ (balance or equilibrium) คือสภาพการได้ดุลของสรรพสิ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่ามีการหยุดนิ่งอยู่กับที่ จะมีการเคลื่อนขยับ แต่ผลสุดท้ายก็จะกลับมาสู่ดุลยภาพอีกเป็นระยะๆ และนี่คือสิ่งที่นำไปสู่การเกิดระเบียบ (order) ขึ้นในสังคมมนุษย์ แต่บางครั้งเมื่อความเป็นระเบียบถูกทำลายบ่อยครั้งจนคนเริ่มไม่แน่ใจ ก็จะเกิดความคิดว่า ฤาว่าสังคมมนุษย์มีลักษณะไร้ระเบียบ (chaos) แต่สิ่งที่จะคิดต่อไปได้คือถ้าปรากฏการณ์เกิดขึ้นเอาแน่นอนไม่ได้เข้าลักษณะการไร้ระเบียบของสรรพสิ่ง ก็จะไม่สามารถมีการจัดตั้งสถาบันอันใดทั้งสิ้น และการคงอยู่ของสังคมก็จะถูกกระทบเพราะค่านิยม ปทัสถานจะมีการเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่เท่าที่มีมนุษย์และสังคมมนุษย์มาจนปัจจุบันนี้ แม้จะมีความไร้ระเบียบเกิดขึ้นเป็นบางช่วง แต่โดยทั่วไปกฎเกณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่กฎเกณฑ์ของจักรวาลจนถึงสิ่งที่มีในสังคมมนุษย์เองก็จะมีลักษณะมีระเบียบ การสร้างดุลยภาพของสรรพสิ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น นอกเหนือจากประเด็นใหญ่ที่กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว อาจมาพิจารณาที่ปัจเจกบุคคลรวมทั้งสังคม ในแง่ปัจเจกบุคคลอันได้แก่มนุษย์นั้น มีความจำเป็นต้องสร้างดุลยภาพ 3 มิติ ด้วยกัน มิติที่หนึ่ง จะต้องพยายามรักษาดุลยภาพหรือสร้างดุลยภาพภายในร่างกายของตนเอง โดยต้องเข้าใจว่าร่างกายมนุษย์เป็นองค์รวม เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งบาดเจ็บก็จะเกิดการเสียดุลทั้งระบบ การรักษาดุลยภาพในร่างกายจึงเป็นสิ่งจำเป็นในเบื้องต้น มิติที่สอง การรักษาดุลยภาพทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก อารมณ์ของมนุษย์จะมีขึ้นลง สงบและเดือดพล่าน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการควบคุมอารมณ์ของเจ้าตัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ถึงแม้จะมีการแกว่งของอารมณ์ ความรู้สึก แต่ผลสุดท้ายจะต้องมีความพยายามในการสร้างดุลยภาพของอารมณ์ให้สู่สิ่งซึ่งเป็นทางสายกลาง มีเหตุมีผล เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย มิติที่สาม ดุลยภาพระหว่างร่างกายและจิตใจมีความสำคัญเพราะมีการเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน ถ้าร่างกายเสียดุลเกิดการเจ็บป่วย จิตใจก็ย่อมเกิดความห่อเหี่ยวได้ ขณะที่จิตใจห่อเหี่ยวเกิดความเครียดย่อมส่งผลต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บในทางกายได้ การฝึกจิตด้วยการนั่งสมาธิจะทำให้เกิดการพัฒนาจิตให้มีความแข็งแกร่ง แต่ถ้าการรับประทานอาหารถูกปล่อยปละละเลยจนร่างกายอ่อนแอและทรุดโทรม การรักษาความบริสุทธิ์ของจิตบนร่างกายที่เจ็บป่วยอาจจะประสบปัญหาได้ การสร้างดุลยภาพระหว่างกายและจิตจึงเป็นมิติที่สำคัญอีกมิติหนึ่ง ในแง่ของสังคมโดยรวม ดุลยภาพที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือดุลยภาพในทางการเมืองการบริหาร มีการสร้างความเจริญและการพัฒนาโดยทุกฝ่ายมีความพอใจ ทั้งฝ่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศและฝ่ายผู้กำหนดนโยบาย อันได้แก่ รัฐบาล และหน่วยงานประจำ ในส่วนของทางเศรษฐกิจนั้น ดุลยภาพที่จะเกิดขึ้นคือการกระจายความเจริญไปให้ทั่วถึง และการแจกแจงรายได้ต้องมีความยุติธรรมเท่าที่ควร ประโยชน์จากทางเศรษฐกิจที่ได้รับจะต้องเกิดจากทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันจะต้องไม่สร้างปัญหาสังคมจากการเกิดมลภาวะ ฯลฯ ในทางสังคมนั้นจะต้องมีดุลยภาพระหว่างกลุ่มและชนชั้นต่างๆ จะต้องเป็นการสร้างดุลยภาพโดยการเน้นความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ เมื่อใดเกิดความขัดแย้งในแง่ของความคิด ความเชื่อ ค่านิยมหรือศรัทธา จนนำไปสู่ความขัดแย้ง สังคมนั้นย่อมเสียดุล การสร้างดุลยภาพในส่วนต่างๆ ที่กล่าวมานี้จึงเป็นความจำเป็น ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือประเด็นทางการเมือง การปกครอง การบริหาร ดุลยภาพเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ แต่การเสียดุลจะเกิดเป็นระยะๆ ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่าระบบ ทั้งระบบชีวภาพหรือระบบสังคมจะต้องสามารถเคลื่อนตัวเข้าสู่ดุลยภาพในที่สุด และมีลักษณะที่มีดุลยภาพอยู่ระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็อาจจะมีเหตุให้เกิดการเสียดุลยภาพอีก ระบบก็ต้องพยายามเวียนกลับไปสู่การได้ดุล โดยภาพรวมดุลยภาพจะเกิดขึ้นโดยมีช่วงเวลามากกว่าการเสียดุล เพราะไม่มีสังคมไหนที่จะมีดุลยภาพโดยไม่มีการเสียดุลเนื่องจากสังคมมีความพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ความเชื่อ ค่านิยม ที่สำคัญที่สุด ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เมื่อเป็นเช่นนี้ความสามารถของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงโดยปัจเจกบุคคลและโดยสังคม ก็จะเป็นดัชนีชี้ถึงความสามารถของการกลับเข้าสู่ดุลยภาพได้เร็วหรือช้าอย่างไร โดยสรุปก็คือ มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคล สังคม หรือองค์กรอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้น ต่างมุ่งเน้นที่จะไปสู่จุดดุลยภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือจะมีการเสียดุลเป็นช่วงๆ และผลสุดท้ายระบบก็จะกลับไปสู่การได้ดุลยภาพ ถ้าเป็นเช่นนี้ระบบนั้นก็ยังดำรงอยู่ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการเสียดุลอย่างมากและไม่สามารถจะเวียนกลับไปสู่การได้ดุล พร้อมกับมีการเสียดุลใหม่เป็นระลอกๆ ทำนองเดียวกับบุคคลที่ป่วยจากโรคหนึ่งไปอีกโรคหนึ่ง การเยียวยาไม่ได้ผล ระบบชีวภาพก็จะยุติลง ถ้าเป็นระบบสังคมก็จะหยุดการทำงาน ที่เรียกว่า ระบบสิ้นสุดลงจากการเสียดุลที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้