รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิกฤติโควิด-19 ได้สร้างความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน ประชากรทั่วโลกไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างเคย แต่เมื่อช่วงสองทุ่มครึ่งของวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ต.ค. 2564) นายกฯประยุทธ์ ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ แถลงดีเดย์วันที่ 1 พ.ย. 2564 นี้ ไทยจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวนำร่อง 10 ประเทศ ที่ฉีดวัคซีนครบโดส มีความเสี่ยงต่ำ และไม่ต้องกักตัว และในวันที่ 1 ธ.ค. จะพิจารณาอนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร และเปิดสถานบันเทิง เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวด้วยการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวอังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น และอเมริกา ฉับพลันหลังการแถลงดังกล่าวของนายกฯประยุทธ์โลกออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ชาวเน็ตต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักพร้อมติดแฮชแท็ก #ประยุทธ์ จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ของประเทศไทยเพียงชั่วข้ามคืน โดยมีผู้เข้าไปทวีตในประเด็นดังกล่าวกว่า 870K Tweets (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.dailynews.co.th/news/365578/) และล่าสุดในช่วงสายของวันนี้ (12 ต.ค.) มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวเกือบล้านแล้ว 936,000 ทวีต แต่ในขณะเดียวกันสภาพตลาดหุ้นไทยกลับคึกคักในช่วงเช้าวันที่ 12 ต.ค. โดยเฉพาะ “หุ้นธีมเปิดเมือง” ต่างปรับตัวดีดขึ้นเกือบทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ร้านอาหาร สายการบิน และโรงแรม เพื่อขานรับกับการแถลงประกาศเปิดประเทศของนายกฯประยุทธ์เมื่อช่วงค่ำคืนของวันที่ 11 ต.ค. ถึงแม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ยังทรงตัว รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่ไทยยังหนักอยู่ และขนาดว่า 57 จังหวัดอาจเสี่ยงถึงขั้นภัยพิภัยหนัก (อ่านเพิ่มเติมที่ https://brandinside.asia/stock-open-thailand/) การแถลงของนายกฯประยุทธ์เป็นการอาศัยจังหวะเพื่อช่วงชิงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าเที่ยวไทยช่วงปลายปีนี้ เพราะประเทศไทยช่วงฤดูหนาวเป็นปลายทางหรือ “Destination” ยอดนิยมของพลเมืองในแถบยุโรป อเมริกา และประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ‘ธุรกิจโรงแรมและที่พักไทยพึ่งพาการเข้าพักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างสูง โดยเฉพาะ ใน 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ยะลา นราธิวาส สตูล ภูเก็ต พังงา ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ อยุธยา สุโขทัย ตราด ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร’ ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า ‘ที่อื่นเค้าเปิดเมื่อพร้อม ทั้งเรื่อง…ระบบตรวจคัดกรองพร้อม มีศักยภาพตรวจได้มาก ประชากร ส่วนใหญ่ได้วัคซีนครบสองโดส ระบบตรวจสอบ ติดตามตัว ที่มีประสิทธิภาพ และสถานการณ์ระบาดไม่รุนแรง คุมได้ดี แม้กระนั้น หลายประเทศเปิดแล้วเค้าก็เจอผลกระทบตามมาชัดเจน’ นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็โพสต์ว่า การที่จะเปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้การระบาดของโควิด-19 เป็น “การเจ็บป่วยในภาวะปกติวิสัย (Normality)” ที่ระบบสาธารณสุขปกติ สามารถควบคุมการระบาด และดูแลรักษาผู้ป่วยได้ โดยต้องมั่นใจว่า ไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข หรือมีแผนสำรองในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขได้โดยทันที อย่างไม่ตระหนกตกตื่น ในกรณีจำเป็น สำหรับตัวอย่างประเทศอื่น ๆ ที่ประกาศเปิดประเทศมาแล้วโดยไม่มีการกักตัว เช่น ประเทศสิงคโปร์ ประเทศในยุโรป เช่น เดนมาร์ก อังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าประเทศที่ต้องเผชิญกลับการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนักขึ้นอีกคือ สิงคโปร์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศที่น่าสนใจคือ ‘เดนมาร์ก’ พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น รัฐบาลประกาศให้โควิด-19 ไม่ถือเป็นวิกฤติร้ายแรงต่อสังคมตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา หัวใจความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของเดนมาร์กจนทำให้สามารถคลายล็อคดาวน์ก่อนประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ก็เนื่องจากเดนมาร์กมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในอัตราสูง ชาวเดนมาร์กได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครบโดสแล้วถึงกว่า 73% ขณะที่กลุ่มประชากรสูงวัย 65 ปีขึ้นไป มีการฉีดไปแล้วถึง 96% อย่างไรก็ตาม Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานที่วิเคราะห์เศรษฐกิจของนิตยสาร Economist ได้ทำการจัดอันดับประเทศที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า ประเทศที่มีความปลอดภัยหลังจากโควิด-19 ระบาด ได้แก่ เดนมาร์ก แคนาดา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น หากมองย้อนกลับที่ไทยเราเมื่อรัฐบาลต้องการเปิดประเทศเพื่อหวังกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ ให้คนมีงานทำ มีเงินใช้ ประเทศเดินหน้าต่อไป รัฐมีเงินชดใช้หนี้สาธารณะที่กู้มาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อยต่าง ๆ ผ่านมาตรการช่วยเหลือมากมายตามนโยบายรัฐ เช่น มาตรการเติมเม็ดเงิน เสริมสภาพคล่อง มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ มาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า มาตรการฟื้นฟู-สร้างงานสร้างอาชีพ มาตรการขยายเวลาเก็บ VAT 7% ต่ออีก 2 ปี ฯลฯ ภายหลังวิกฤติโควิด-19 พ่นพิษพากิจกรรมทางเศรษฐกิจ “หยุดนิ่ง” ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเจ็บสาหัสสูงสุด ประเด็น ‘เปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้’ เป็นประเด็นอ่อนไหว ‘Sentimental’ มาก ๆ ครับ !!! คนไทยทุกคนต้องช่วยกันคิดว่า การเปิดประเทศคือทางออกเดียวหรือ? เปิดประเทศช่วงนี้เร็วไปมั้ย? เมื่อเปิดประเทศแล้วพร้อมรับมือกับการระบาด โควิด-19 ระลอกใหม่ไหวมั้ย? รัฐบาลพร้อมจริง ๆ แล้วหรือไม่กับการเปิดประเทศ ผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับการประเทศ อันไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน...มาลุ้นผลโพลปลายสัปดาห์กันดีกว่า...ว่าคนไทยคิดอย่างไรกันบ้าง? กับการเปิดประเทศในอีกไม่ถึงเดือนข้างหน้า...