กระทรวงศึกษาธิการดูเหมือนจะเป็นกระทรวงแรก ๆ ที่ประกาศนโยบายปฏิรูปอย่างชัดแจ้ง และเนื้อหานามธรรมของแนวทางปฏิรูปก็ดูดี ควรค่าแก่การวิเคราะห์ศึกษา แล้วเสนอความคิดเห็นช่วยกันปรับปรุงและสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการยุคนี้จะปรับปรุงคือ กิจกรรมนอกห้องเรียน ที่สรุปเป็นคำอังกฤษ ตามเทรนด์สังคมไทย 4.0 ว่า Head - Heart - Hand - Health รูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมนอกห้องเรียน แบ่งเป็น 3 หมวด คือ
- สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมพัฒนาด้านการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ อาทิ กิจกรรมสนุกกับภาษาไทย หุ่นยนต์วิเศษ กลคณิตศาสตร์ เที่ยวไกลไร้พรมแดน นิทานหรรษา เป็นต้น
- สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ปลูกฝังและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย อาทิ กิจกรรมมือปราบขยะ ตามรอยพ่อ ลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ภูมิใจในบ้านเกิด เป็นต้น
- สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกการทำงาน ทักษะทางอาชีพ และอยู่อย่างพอเพียง พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย อาทิ กิจกรรมร้องได้ ร้องดี ชีวีมีสุข ร้อยลูกปัด คู่ Buddy พี่รหัส วันกีฬาครอบครัว เป็นต้น
ในส่วนการวัดและประเมินผลกิจกรรมนอกห้องเรียนนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินทางวิชาการต่างๆ ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน ส่วนการประเมินความสำเร็จของโครงการ จะมีการประเมินระหว่างเทอม 2 ครั้ง และประเมินหลังปิดเทอม 1 ครั้ง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำว่า ในเรื่องของการประเมินผลเป็นเรื่องใหญ่ที่ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าส่วนใดสำเร็จ และมีส่วนใดที่ยังล้มเหลว จึงได้มอบให้ สพฐ. รวบรวมหัวข้อในการประเมินทั้งหมดมานำเสนอ ทั้งในส่วนการประเมินด้านวิชาการ และการประเมินความสุขของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมทั้งต้องตอบโจทย์ปัญหาด้านการศึกษาด้วย เช่น เด็กไทยเรียนมากและมีการบ้านจำนวนมาก ทำให้พ่อแม่และเด็กมีความเครียด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยไม่ดีขึ้น เด็กไทยขาดทักษะชีวิต ขาดระเบียบวินัย เป็นต้น
ทั้งนี้ หากจำเป็นที่จะต้องนำบุคคลที่สามหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้ประเมิน ก็ต้องทำ เพื่อให้ได้คำตอบของการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่จะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดของวิธีการประเมินก่อนว่า เป็นการสร้างภาระให้กับครูหรือไม่อย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงก็คงจะต้องมีภาระอยู่บ้าง แต่ไม่ควรจะมากเกินไป
ในส่วนการประเมินของครู ให้ความสำคัญและมีความเห็นใจมาก เพราะครูจะต้องได้รับการประเมินต่างๆ ที่ล้วนเป็นภาระกับครูทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีครูบางคนที่เป็นครูที่เก่ง ครูดีในพื้นที่ห่างไกล และเป็นที่รักของลูกศิษย์ แต่อาจจะสอบไม่เป็น จึงจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องพัฒนาวิธีการประเมินครูในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการสอบที่ไม่ควรสร้างภาระให้กับครูมากจนเกินไป โดยเตรียมที่จะพัฒนาการประเมินครูทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่ "ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน" เป็นส่วนสำคัญของการประเมินด้วย
นอกจากนั้นยังจะมี การทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR) โดยจะดำเนินการทันทีหลังปิดเทอม เพื่อประมวลและรวบรวมปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ จากการดำเนินโครงการ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครูและสถานศึกษา