เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
มาเรีย เรสซา ชาวฟิลิปปินส์ และ ดมิทรี มูราตอฟ ชาวรัสเซีย คือสองนักข่าวที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี 2021 นี้
ทั้งสองเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองในประเทศของตน แม้เสี่ยงต่อการคุกคามทำร้ายและถูกฆ่า เช่นเดียวกันเพื่อนร่วมอาชีพจำนวนมากแต่ละปี เพราะ “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดความจริงอาจตาย” โดยเฉพาะในประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ ไม่ยอมรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แม้ฟิลิปปินส์และรัสเซีย แสดงตนว่าเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่ผู้นำอย่างนายโรดริโก ดูแตร์เต และนายวลาดิเมียร์ ปูติน ก็แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า เป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตยมากกว่า คนวิพากษ์วิจารณ์ถือว่าต่อต้าน และมักถูก “จัดการ” ไม่ว่าด้วยกฎหมาย หรือด้วยวิธีการ “เถื่อน” ต่างๆ
คณะกรรมการรางวัลโนเบลจึงมอบรางวัลให้นักข่าว ในฐานะตัวแทนของนักข่าวทั่วโลก ที่เปิดเผยการบิดเบือนอำนาจ การใช้ความรุนแรง และระบอบอำนาจนิยมที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสองประเทศนี้และที่อื่นๆ
“การทำข่าวที่อิสระ เป็นเอกเทศ และอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง จะปกป้องการใช้อำนาจในทางที่ผิด การโกหกและการโฆษณาชวนเชื่อ” “ปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อ จะเป็นเรื่องยากที่จะส่งเสริมภราดรภาพนานาชาติ ลดกำลังอาวุธ และระเบียบโลกที่ดีกว่า”
การวิพากษ์วิจารณ์ของนักข่าวทั้งสองมาจากฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ได้มีการสืบสวนสอบสวน หรือการวิจัยอย่างเข้มข้น จึงไม่ใช่การ “โมเม” แบบผิวเผิน หรือ “เหมารวม” อย่างง่ายๆ ซึ่งเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่มีคนตายหลายพันคน
หรือการเปิดเผยการคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ ในรัสเซีย และความไม่ชอบมาพากลในการเมือง การเลือกตั้ง การรวบอำนาจของประธานาธิบดี ทำให้นักข่าวของ “โนวายา กาเซตา” ของนายดมิทรี มูราตอฟ ถูกฆ่าไป 6 คน ตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี 1993
เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าว นักหนังสือพิมพ์ คนในวงการสื่อทั่วโลกที่ถูกสังหารทุกปี ที่ผ่านมาปีละจำนวนมาก เมื่อปี 2012 สูงถึง 147 คน ปี 2020 มี 50 คน
การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจึงเปรียบเสมือนการมอบ “เสื้อเกราะกันกระสุน” ให้บรรดานักข่าวทั่วโลก สะท้อนว่า ประชาคมโลกไม่อาจยอมรับการคุกคามเสรีภาพสื่อ การทำร้ายผู้สื่อข่าว กีดกันการเสนอข่าวข้อเท็จ และการแสดงความคิดเห็นได้ (แม้เสื้อเกราะจะกันได้แต่หน้าอกเท่านั้น)
ในกรณีของนางมาเรีย เรสซา ที่กล้าหาญ “ท้าทาย” อำนาจของประธานาธิบดีดูแตร์เต นั้นเสี่ยงตายไม่น้อย แต่เธอก็น่าจะได้รับการปกป้องจากประชาชนชาวฟิลิปปินส์และประชาคมโลก ทำให้ฟิลิปปินส์ถูกจับตาตลอดเวลาว่าจะทำอันตรายเธอไม่ได้ ในปี 2018 นิตยสารไทม์จึงขึ้นหน้าปก ยกให้เธอเป็นบุคคลแห่งปี
นายดูแตร์เต แม้จะได้รับเลือกในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็แสดงอำนาจบาตรใหญ่น้องๆ นายมาร์กอส อดีตประธานาธิบดีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเผด็จการครองอำนาจยาวนาน 21 ปี (1965-1986) ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่ในอำนาจ ไม่ว่าการโกงการเลือกตั้ง แก้กฎหมาย ทำลายฝ่ายตรงกันข้าม ประกาศกฎอัยการศึก
แต่จุดจบของมาร์กอสก็เริ่มเมื่อนายเบนิโญ อากิโน ผู้นำฝ่ายค้านถูกสังหารคาสนามบิน เมื่อเดินทางกลับประเทศในปี 1983 ทำให้ประชาชนฟิลิปปินส์ลุกฮือขับไล่นายมาร์กอส เป็นขบวนการปฏิวัติพลังประชาชน (People Power Revolution) ที่ออกไปเดินขบวนถึง 2 ล้านคน จนนายมาร์กอสอยู่ไม่ได้ หนีไปเมื่อปี 1986 และป่วยตายนอกประเทศปี 1989 ศพเพิ่งถูกนำกลับมาฝังที่บ้านเกิดเมื่อ 5 ปีที่แล้วนี่เอง
นางมาเรีย เรสซา ก่อตั้งสื่อออนไลน์ Rappler เมื่อปี 2012 แต่เธอมีประสบการณ์เป็นนักข่าวให้สื่อใหญ่อย่าง CNN มาก่อน เธอเกิดที่ฟิลิปปินส์ แต่ไปอยู่ที่สหรัฐฯตั้งแต่ยังเด็ก ในช่วงนายมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึก จบปริญญาตรีทางชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยฟรินซ์ตัน กลับประเทศในช่วงการปฏิวัติพลังประชาชน
การเป็นนักข่าวในฟิลิปปินส์วันนี้ นางมาเรีย เรสซา ต้องต่อสู้ไม่ใช่แต่กับนายดูแตร์เต และบรรดาลิ่วล้อของเขาเท่านั้น แต่กับประชาชนฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่งที่สนับสนุนผู้นำคนนี้ ซี่งมีทั้งนายทุน มีทั้งสื่อมวลชน ที่เป็นเครื่องมือและกระบอกเสียงให้นายดูแตร์เต จึงมีข่าวปลอม ข่าวปล่อยมากมาย มีปฏิบัตการข่าวสาร (IO)
นางเรสซา ถูกปล่อยข่าวและตั้งสมญานามต่างๆ นานา ถูกใส่ร้ายป้ายสี ทำลายชื่อเสียง ฝ่ายสนับสนุนนายดูแตร์เตเรียกเธอว่า “โสเภณีสื่อ” (presstitutes) ทาสรับใช้อเมริกา และหาว่า ข้อมูลที่เธอนำเสนอในสื่อออนไลน์ของเธอนั้นล้วนเป็นข่าวปลอม ดูเป็นข้อกล่าวหาที่คล้ายกับที่นายทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯเคยกล่าวหาบรรดาสื่อที่ไม่อยู่ข้างเขา
ประเทศฟิลิปปินส์มีประชากร 109 ล้านคน อยู่บนเกาะ 7,640 เกาะ เคยเป็นอาณานิคมของสเปนและสหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกได้เป็นเอกราช และมีระบอบประชาธิปไตยจนมาถึงยุคนายมาร์กอส จากนั้นก็มีความพยายามจากทหารในการทำรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ และถูก “ไล่กลับ” เข้ากรมกองจนถึงทุกวันนี้
ประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์สัมพันธ์กับการสื่อสาร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คุณภาพสื่อ ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันขบวนการประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐ อำนาจทุน ในการครอบงำประชาชน มอมเมาให้อยู่ใต้อาณัติและอำนาจของตน เป็นอำนาจนำ (hegemony) ด้วยสื่อยุคใหม่
ขบวนการประชาชนฟิลิปปินส์ มีนักวิชาการ นักพัฒนา ชุมชนศาสนิกหนุนหลัง พวกเขาได้ให้บทเรียนแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกว่า การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจาก “จิตสำนึก” พวกเขาเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า “conscientization” (การสร้างจิตสำนึก) และ “conscientizing research” (การวิจัยเพื่อพัฒนาจิตสำนึก)
ซึ่งเป็นฐานคิดเดียวกันกับการทำสื่อแบบสืบสวนสอบสวน ซึ่งเรียกว่า “สื่อเพื่อพัฒนาจิตสำนึก” (conscientizing media) ซึ่งไม่ได้มีเพียงจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอข้อเท็จจริง แต่เพื่อสร้างสำนึกและการเปลี่ยนแปลง