สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท. )มีความกังวล 3 ปัจจัยเสี่ยงที่จะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2564 ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ประกอบด้วย หนึ่งคือ ภาวะน้ำท่วมในประเทศไทย 19จังหวัด สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตรแล้วหลายล้านไร่ถือเป็นการซ้ำเติมภาคแรงงานที่ก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แล้วกลับไปยังภูมิลำเนาเพื่อเข้าไปเป็นแรงงานภาคการเกษตรแทนจะทำให้คนเหล่านี้ และกลุ่มเกษตรกรเดิมได้รับผลกระทบต่อรายได้และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะสะท้อนกลับมายังแรงซื้อลดต่ำลง ขณะเดียวกันนักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นเนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ในไทยปี 2554ส่งผลกระทบอย่างมากและนับจากนั้นจนถึงปัจจุบันแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบยังไม่ดีขึ้นนักโดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มสะท้อนความเห็นผ่านสื่อมากขึ้น รวมทั้งความวิตกกังวลของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานีและอยุธยา ที่กังวลว่าจะมีพายุเข้ามากระทบประเทศไทยอีกในเดือนตุลาคมนี้จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วม สองคือ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากผลกระทบราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากภาวะตึงตัวของการผลิต หลังทั่วโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 ทำให้ความต้องการสูงขึ้น ขณะเดียวกันค่าเงินบาทของไทยได้อ่อนค่าลงมาสู่ระดับ 33.88 บาทต่อเหรียญดอลล่าสหรัฐ อ่อนค่าสุดรอบ 4 ปี ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันนำเข้าสูงขึ้นอีก ซึ่งปัญหาราคาน้ำมันแพงจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่งจะสูงขึ้น ดังนั้นควรจะต้องเข้ามาดูแลโดยเน้นการปรับโครงสร้างราคาให้เหมาะสมเช่น การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีต่างๆ เป็นต้น และสามปัญหาไฟฟ้าดับในจีนหลายเมือง เนื่องจากโรงไฟฟ้าประสบภาวะการนำเข้าถ่านหินได้น้อยลงเนื่องจากขัดแย้งกับออสเตรเลีย และข้อจำกัดในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มณฑลและภูมิภาคของจีนอย่างน้อย 20 แห่งได้ประกาศใช้แนวทางการตัดไฟ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้อุตสาหกรรมหนักซึ่งอาจจะทำให้ไทยขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในที่สุด ดังนั้น รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องเตรียมมาตรการรองรับ และบริหารความเสี่ยงอย่างรู้เท่าทัน รอบคอบและรัดกุม เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ประคับประคองให้ผ่านโค้งสุดท้ายปลายปี ไม่ให้เป็นโค้งอันตรายสำหรับประเทศไทย ซ้ำเติมเศรษฐกิจเผาจริงในปี 2565