เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
การเลือกตั้งในการเมืองไทยถอดแบบบางอย่างจากเยอรมนี อย่าง ส.ส. เขต และบัญชีรายชื่อ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” แต่ก็มีความแตกต่างทั้ง “รูปแบบ” และ “เนื้อหา” หลายประการ มีเรื่องให้เรียนรู้ที่อาจช่วยให้ออกจากวังวนอุบาทว์การเมืองแบบไทยๆ ได้
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2021 มีการเลือกตั้งใหญ่ในเยอรมนี ผลการเลือกตั้ง แม้ยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการ แต่ก็ทราบกันดีว่า พรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ชนะพรรคสหภาพ (Union) หรือพรรคพี่น้อง CDU+CSU ที่เป็นรัฐบาลมา 16 ปี ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคสหภาพ และพรรคสังคมฯ สองพรรคนี้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นรัฐบาล มีบางครั้ง อย่างรัฐบาลที่แล้ว ที่สองพรรคใหญ่จับมือกันตั้งรัฐบาล เป็นอะไรที่ประชาชนก็พอรับได้ เพราะเป็นรัฐบาลผสมระหว่าง “กลางขวา” กับ “กลางซ้าย” เลยน่าจะได้ “กลางๆ” พอสมควร
การเมืองเยอรมนีที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลพรรคเดียว มีแต่รัฐบาลผสม ไม่สองก็สามพรรคเสมอ เพราะเสียงไม่พอที่จะตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาด้วยเสียงเกินครึ่งหนึ่งของ ส.ส.
ก่อนการเลือกตั้ง พรรคใหญ่สองพรรคจะเสนอตัวผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ก็ให้รู้ว่า พรรคเสนอใคร เพื่อว่าประชาชนจะได้เลือกพรรคนั้นเป็นรัฐบาล
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะมีการสำรวจความเห็นของประชาชนเป็นระยะๆ ในแทบทุกเรื่องก่อนการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคเพราะ “ผู้นำ” ที่ได้รับการเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า “นโยบาย” ของพรรค เพราะเรื่องสำคัญๆ พรรคใหญ่ๆ ไม่ได้ต่างกันมาก
ดังกรณีพรรคสังคมฯ ที่ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคนี้เพราะนายโอลาฟ ชอลซ์ ที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่คะแนนของพรรคสหภาพตกต่ำสุดตั้งแต่หลังสงคราม คนส่วนใหญ่ไม่เลือกเพราะไม่ชอบนายอาร์มิน ลาร์แช็ต ที่คะแนนนิยมน้อยตลอดมา
การเลือกตั้งครั้งนี้แทนที่จะมีการชูคนที่จะเป็นนายกฯ 2 คน กลับมี 3 คน คือ พรรคกรีนเสนออันนาเลนา แบร์บ็อก เธออายุ 40 ปี เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงเมื่อปีที่แล้ว ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าคู่กับโรเบิร์ต ฮาเบ็ค แต่พอถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปเท่านั้น เธอก็ถูกสืบค้นจนเจอ “แผล” จากการตบแต่งประวัติตนเอง และหนังสือเรื่องราวชีวิตของตนเองที่ไป “ลอก” เนื้อหาบางส่วนจากที่อื่นโดยไม่อ้างอิงที่มา
ฟังดูก็ไม่น่าจะร้ายแรงอะไร ไม่ใช่การฉ้อฉลใหญ่โต แต่คนเยอรมนีถือว่าถ้าไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย แล้วจะบริหารบ้านเมืองเรื่องใหญ่ได้อย่างไร คะแนนนิยมของเธอลดลงจากที่เคยพุ่งนำผู้สมัครชาย 2 คน กลับมาตามหลังในท้ายที่สุด และทำให้ผลการเลือกตั้งพรรคกรีนเองก็ไม่ได้สูงมากตามคาด
เช่นเดียวกับนายอาร์มิน ลาแช็ต ซึ่งที่จริง คะแนนของเขาก็ไม่ได้เลวนัก นำหน้าผู้สมัครทั้ง 2 คน แต่เหตุการณ์อุทกภัยใหญ่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทำให้ภาพลักษณ์ของนายลาแช็ตเสียหาย ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อ ขณะที่ประธานาธิบดีเยอรมนีกำลังพูดกับ “ชาวบ้าน” ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วมใหญ่ สื่อก็ฉายภาพนายลาแช็ตยืนข้างหลังหลายเมตร กำลังหัวร่อต่อกระซิกกับทีมงาน
คนเยอรมนีรับภาพนั้นไม่ได้ ในยามที่ใครๆ กำลังทุกข์แสนสาหัส คุณสนุกอยู่ได้อย่างไร ในยุคโซเชียลมีเดีย ลองนึกดูว่าภาพนี้จะกระจาย “ไวรัล” ไปถึงไหน เหยื่อของพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม
ขณะนี้ พรรคสังคมฯ กำลังหารือกับพรรค FDP และพรรคกรีน เพื่อตั้งรัฐบาล ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะยืดเยื้อเหมือนเมื่อปี 2017 ที่กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็กินเวลากว่าห้าเดือน ครั้งนี้ก็คาดกันว่าอาจจะถึงคริสต์มาส เพราะการประนีประนอมนโยบายให้ลงตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ไปประกาศก่อนเลือกตั้งแล้วมาเปลี่ยนแปลงตอนเข้าร่วมรัฐบาล ต้องคิดหนัก เพราะอาจจะเสียคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เยอรมนีมีสภาเดียว มีส.ส.จากการเลือกตั้ง 299 คน จากบัญชีรายชื่อ 299 คน รวม 598 คน แต่จำนวนก็ผันแปรไปตามการคำนวณคะแนนเสียง ซึ่งดูซับซ้อนไม่น้อย ทำให้ปีนี้รัฐสภาเยอรมนีมี ส.ส. ทั้งสองแบบใน “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed Member Proportional) รวมทั้งหมด 735 คน มากที่สุดตั้งแต่หลังสงคราม
การคำนวณที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าพรรคใดไม่ได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ 5 ก็จะไม่ได้ “เข้าสภา” แต่ถ้าได้ ส.ส.เขต 3 คนก็สามารถเข้าไปนั่งในสภาได้ แต่จากบัญชีรายชื่อไม่จัดให้
ระบบการเมืองเยอรมนีไม่มีวุฒิสภา แต่ก็มีคณะมนตรีสหพันธ์ (Bundesrat) คือสภาผู้แทนรัฐในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประกอบด้วยผู้แทนจาก 16 รัฐ ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ “คณะกรรมการกฤษฎีภา” บ้านเรา คือ ที่ปรึกษาและกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ได้มีอำนาจเหมือนวุฒิสภาในสหรัฐฯ ในสหราชอาณาจักร หรือในบ้านเรา
และมี “กลุ่มการเมือง” (fraction) ในพรรค หรือระหว่างพรรคที่มีเป้าประสงค์เดียวกัน มีความสำคัญมากในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการของรัฐสภาและทางการเมือง
การเมืองเยอรมนีหลังการรวมชาติ (1990) แม้มีอดีตพรรคสังคมนิยม (die Linke) และการเกิดใหม่ของพรรคทางเลือก (AfD) 2013 ที่เริ่มจากเป็นพรรคกลางขวาไปเป็นพรรคขวาจัด ชาตินิยม จนถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มนาซีใหม่ที่ใช้ความรุนแรง การเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งพรรคซ้ายจัดและขวาจัดกลับได้คะแนนลดลง
มีการวิเคราะห์ว่า คนเยอรมนีต้องการการเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่แบบมั่นคง อดทนรอการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องการไปสุดกู่ไม่ว่าซ้ายหรือขวา แม้จะสัญญาในการหาเสียงว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี โดยเฉพาะ “ไอที-ดิจิทัล” ซึ่งล้าหลังประเทศอื่นๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
วันนี้ใครไปซื้อของ ไปกินข้าวที่เยอรมนี โดยถือแต่บัตรเครดิต อาจจะได้อดข้าว เพราะเขายังใช้เงินสดกันมากกว่าหลายประเทศในยุโรป เยอรมนีผลิตรถเบนซ์ บีเอ็ม ปอร์เช่ ที่วิ่งได้กว่า 300 กม.ต่อ ชม. แต่อย่างอื่น ท่องคาถาไทยว่า “ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม”