สถานการณ์เดือนตุลาคมปี 2564 มีความหมายมากกว่าหลายปีที่ผ่านมาในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการจัดระเบียบดุลอำนาจใหม่ทั้งภายในรัฐบาลและภายในพรรคพลังประชารัฐ หลังจากเกิดแรงเขย่าอย่างรุนแรงก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ผ่านมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อาจไม่ได้แข็งแกร่งกว่ารัฐบาลใดๆและต้องเผชิญกับภาวะความเบื่อหน่ายของประชาชนเช่นเดียวกับรัฐบาลในอดีต หากแต่ที่ยังสามารถเดินมาถึงปัจจุบันได้ ปัจจัยหนึ่งมาจากความไม่เป็นเอกภาพภายในขั้วอำนาจของพรรคร่วมฝ่ายค้านเอง และการแย่งชิงมวลชนบนท้องถนน ทำให้การเคลื่อนไหวไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการยกเพดานการเคลื่อนไหวไปที่สถาบันเบื้องสูง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากประชาชนผู้จงรักภักดี ทำลายแนวร่วมในการต่อต้านรัฐบาล ขณะที่การเคลื่อนไหวของบางกลุ่มเข้าข่ายลักษณะการก่อจราจล ทำลายความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์ ที่สำคัญคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นทั้งวิกฤติและโอกาสของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในภาพที่มองเห็นนั้น เป็นเพียงเศษเสี้ยววของยอดภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งถูกกดทับด้วยสถานการณ์โควิด แตกต่างจากปฏิกิริยาที่รุนแรงในโลกโซเชียลมีเดีย ที่หากโควิดปิดฉากหรือสร่างซาลง อาจเกิดแรงระเบิดใหญ่ของมวลชนก็เป็นได้ และนั่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่ออายุพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการเพื่อลดความตึงเครียดและแรงเสียดทานจากสังคม โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญในเดือนตุลาคมในประวัติศาตร์การเมือง ทั้งวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และ 48 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เป็นวันสัญลักษณ์ที่มักจะมีการจัดกิจกรรมรำลึกและกระตุ้นเตือนสังคมถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะเป็นไทม์ไลน์ที่สำคัญต่อบรรยากาศทางการเมืองของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กระนั้น หากมวลชนยังยึดติดกับการเคลื่อนไหวรูปแบบเดิมๆ ปลุกความเกลียดชังทหาร ด้วยการตอกย้ำบาดแผลในอดีตขึ้นมาแบบเดิมๆ ดิสเครดิตที่มาของพล.อ.ประยุทธ์ และไม่มีการล็อกเป้าหมายในการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ก็อาจจะต้องจบลงแบบเดิมๆ