ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ของ “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “พรรคประชาธิปัตย์” เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ แต่ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องของการ “ยึดงาน” บางส่วนที่เคยอยู่ในมือ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 4กรม ไปอยู่ในมือ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กำลังกลายเป็น “แรงกระเพื่อม” ที่ขยายรอยร้าว ของประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐให้กว้างมากขึ้น
นับจากวันที่ 28 ก.ย.64 ที่ประชุมครม.มีมติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี(ฉบับที่2) โดยให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี แทน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เฉพาะกรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ประเด็นอยู่ที่ว่า เดิมทั้ง 4 กรมนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของ ร.อ.ธรรมนัส เมื่อร.อ.ธรรมนัส พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรี งานดังกล่าว จึงอยู่ในความรับผิดชอบของ เฉลิมชัย รมว.เกษตรฯ แต่แล้วกลับกลายเป็นว่า งานถูกดึงออกไปจากมือของรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลอันดับสาม ไปอยู่ในมือของพล.อ.ประวิตร และต่อมา ยังมีการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วงานทั้ง 4กรมนั้น ยังมีร.อ.ธรรมนัส คอยดูแลในฐานะ “รัฐมนตรีเงา” ตามที่พรรคฝ่ายค้านพยายาม “แซะ” จริงหรือไม่
แน่นอนว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นจากการแบ่งงาน การบริหารจัดการภารกิจในครม. ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐ ใช่ว่าจะเพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายก็เคยมีปัญหาเรื่องการแบ่งพื้นที่ตามโควต้าภาคให้รัฐมนตรีลงไปดูแล จนทำให้ประชาธิปัตย์ออกอาการ “ไม่สบอารมณ์”มาแล้ว
ความไม่พอใจของพรรคประชาธิปัตย์ อันสืบเนื่องมาจากมติครม. เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา นั้นเป็นผลมาจาก “ความขัดแย้ง “กันเองภายในพรรคพลังประชารัฐ จนทำให้ จุรินทร์ ฐานะหัวหน้าพรรค ต้องส่งเสียงเตือนไปยังพรรคพลังประชารัฐว่า อย่าให้ปัญหาภายในพรรคกระทบมาถึงพรรคร่วมรัฐบาล
ล่าสุดเฉลิมชัย ได้ออกมาตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่านี่คือการก้าวก่าย งานส่วนของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ว่า "มันก็มอง ภาพอาจจะมองอย่างนั้น แต่เรื่องนี้หลายคนก็พูดไปแล้ว สื่อมวลชนก็พูดไปแล้ว แต่ในวิธีปฏิบัติ เนื้องานก็มีไม่มาก ที่ต้องผ่านไปตรงนั้น เพราะงานส่วนใหญ่ก็จะจบในการตัดสินในกระทรวงอยู่แล้ว” (4ต.ค.2564)