เสือตัวที่ 6 แม้ประเทศอัฟกานิสถาน ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันยุคใหม่ล่าสุดนี้ จะยังคงเป็นสังคมอนุรักษนิยมที่ยึดโยงกับศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้งและเข้มงวด ท่ามกลางเงาทะมึนของความเหี้ยมโหด อันเกิดจากการเชื่อมั่นศรัทธาในคำสอนทางศาสนาตามแบบฉบับอันเป็นการเฉพาะของกลุ่มตน ที่ยังคงติดตราตรึงใจ หลอกหลอนผู้คนทั้งโลก เมื่อครั้งเคยปกครองดินแดนแห่งนี้ก่อนที่จะถูกขับไล่ออกไปจากกองทัพสหรัฐฯ แต่กระนั้นก็ตาม การกลับเข้ามามีอำนาจรัฐโดยสมบูรณ์ของกลุ่มตาลีบันหนนี้ ผู้นำตาลีบัน ยังคงความพยายามในการสื่อสาร ส่งสัญญาณให้ชาวโลกได้รับรู้ โดยพยายามแสดงออกถึงการให้สิทธิมนุษยชนกับคนในปกครองให้ปรากฏในสายตาชาวโลกอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการที่ตาลีบันเปิดพื้นที่ให้กับเทคโนโลยี ภาพถ่าย วิดีโอ โทรศัพท์มือถือ ที่ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับการดำรงชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีชีวิตของคนอัฟกานิสถานรุ่นใหม่ที่เติบโตมาบนความทันสมัยในโลกออนไลน์ตลอด 20 ปี ของการปกครองของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เพื่อลดกระแสต่อต้านของคนอัฟกันรุ่นใหม่เหล่านี้ และลดกระแสการต่อต้านจากสังคมโลกไปบ้าง อีกทั้งในมิติหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสะพานการสื่อสาร ส่งสัญญาณและสาระสำคัญบางอย่างจากสังคมอัฟกันภายใต้ตาลีบันครั้งใหม่สู่คนกลุ่มอื่นๆ อีกหลายล้านคนในประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันบุกยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอาฟกานิสถานลงได้อย่างเด็ดขาด และสามารถโค่นล้มรัฐบาลอัฟกันของอดีตประธานาธิบดีอัชราฟ กานี จนได้ขึ้นควบคุมอำนาจรัฐ ปกครองประเทศแห่งนี้อีกครั้งในรอบเกือบ 20 ปี ทำให้ประชาคมโลกต่างวิตกกังวลในชีวิตและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้คนในอัฟกานิสถาน ประเทศต่างๆ ในโลกเฝ้าจับตาทิศทางการบริหารประเทศของกลุ่มตาลีบันว่าจะทำให้อัฟกานิสถานอยู่ในสถานะไหน พวกเขาจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร การละเมิดสิทธิสตรีจะมีหน้าตาอย่างไรแค่ไหน รวมทั้งบทลงโทษต่อผู้ละเมิดกฎกติกาของรัฐตามกฎหมายอิสลามที่ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งด้วยความเข้มงวด ดังเช่นที่เคยใช้ในอดีตจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่มากน้อยเพียงใด หากแต่ช่วงแรกของการยึดครองประเทศอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบัน ได้พยายามส่งสัญญาณเชิงบวกต่อแนวนโยบายการบริหารประเทศ แต่ก็ไม่ได้สร้างความนิ่งนอนใจ เชื่อมั่นในสัญญาณเหล่านั้นที่ถูกส่งมาให้ประชาคมโลกได้รับรู้ จนกระทั่งเริ่มมีกระแสข่าว เล็ดลอดออกมาจากคนบางคนในกลุ่มตาลีบัน ที่เป็นสัญญาณเชิงลบ ให้สังคมโลกวิตกกังวลต่อชะตาชีวิตของคนอัฟกันที่ไม่มีความแน่นอนตามสัญญาณที่ส่งมาในช่วงแรก อาทิ นาย มุลเลาะห์ นูรุดดิน ตูราบี (Mullah Nooruddin Turabi) สมาชิกระดับสูงและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เผยว่า บทลงโทษที่เข้มงวด ตัดมือ ตัดเท้า รวมถึงประหารชีวิต จะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน โดยนาย ตูราบี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมผู้นี้ เคยมีอำนาจควบคุมดูแลตำรวจศาสนา เพื่อป้องกันและลงโทษผู้ฝ่าฝืนและผู้กระทำผิดในช่วงก่อนหน้านี้ที่กลุ่มตาลีบันเคยบริหารประเทศ การลงโทษผู้กระทำผิดในเวลานั้นได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เป็นการลงโทษเพื่อประจานต่อหน้าสาธารณชน มีชายชาวอัฟกันจำนวนมากเข้าดูการตัดสินโทษดังกล่าวที่จัดขึ้นทั้งในสนามกีฬาและลานกว้าง อาทิเช่น หากผู้ใดมีความผิดฐานฆาตกรรมผู้อื่น ส่วนใหญ่มักต้องโทษประหารชีวิตด้วยการยิงปืนเข้าที่ศีรษะ ในขณะที่ครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตสามารถเลือกได้ว่าจะยอมรับเงิน (Blood Money) และปล่อยให้นักโทษมีชีวิตต่อไปได้ หรือจะยอมให้ประหารชีวิตนักโทษ และผู้ใดมีความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นขโมย ต้องถูกลงโทษด้วยการตัดมือ ส่วนผู้ใดทำการปล้นชิงทรัพย์ ต้องถูกลงโทษด้วยการตัดมือและตัดเท้า เป็นต้น บทลงโทษที่เหี้ยมโหด รุนแรง ย้อนยุคของโลกปัจจุบัน สร้างความตื่นตระหนกให้ชาวโลกในภาพลักษณ์ของกลุ่มตาลีบันอย่างไม่อาจยอมรับได้ แม้จะเป็นบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดของคนในประเทศอาฟกานิสถานเอง หากแต่โลกใหม่ เป็นโลกของมวลมนุษยชาติที่เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ระเบียบโลกใหม่อันเป็นกระแสโลกที่ทุกประเทศในโลกพึงให้การเคารพและปฏิบัติตาม หากแต่ข้ออ้างของตาลีบันที่ปกป้องแนวทางปกครองคนในดินแดนแห่งนี้ พยายามส่งสัญญาณว่า บทลงโทษที่เข้มงวดและรุนแรงของพวกเขาเหล่านั้น มีความจำเป็นและสำคัญมากต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคมอัฟกัน และเป็นไปตามกติกาที่ต้องการทำให้สังคมอิสลามแห่งนี้ มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นไปตามวิถีแห่งความศรัทธาที่เข้มงวดตามแนวทางที่ตาลีบันเชื่อถือ ทั้งยังเป็นการป้องปรามหรือเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อไม่ให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติตามผู้กระทำผิดเหล่านั้น อันจะทำให้สังคมของพวกเขาสงบเรียบร้อยลงได้อย่างแท้จริง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีการประจานผู้กระทำความผิดไปรอบๆ เมืองในกรุงคาบูล เพื่อให้เกิดความอับอายและไม่กระทำความผิดซ้ำอีก สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่คนทำผิดสมควรถูกลงโทษและประจาน เพราะมันสามารถช่วยลดการเกิดอาชญากรรมในสังคมอัฟกันลงได้ บนความวิตกกังวลของประชาคมโลกและชาวอัฟกันส่วนหนึ่ง ที่มีต่อท่าทีของกลุ่มตาลีบันที่ส่งสัญญาณออกมา แต่กระนั้น ก็ยังมีคนอัฟกันสวนหนึ่งที่ชื่นชอบท่าทีที่เด็ดขาดแกมโหดเหี้ยมของกลุ่มตาลีบัน โดยเฉพาะบทลงโทษผู้กระทำผิดละลานผู้อื่นให้เดือดร้อน รวมทั้งการนำแนวทางความเข้มงวดทางศาสนากิจมาใช้บังคับเพื่อความบริสุทธิ์ทางศาสนาตามความเชื่อของพวกเขา ความเปลี่ยนแปลงที่เรียกได้ว่า เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากสังคมแห่งสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคโดยเฉพาะความเสมอภาค และสิทธิของสตรี การปกครองแบบอารยะตามแบบฉบับของชาวตะวันตก ถูกส่งผ่านมาจากสหรัฐฯ มายังผู้คนในดินแดนแห่งนี้กว่า 20 ปี กลายมาเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ จำกัดสิทธิของสตรีให้น้อยที่สุด รวมทั้งอิสรภาพที่หดหายไปจนมีไว้เท่าที่ผู้ปกครองจะหยิบยื่นให้ รวมทั้งการปกครองที่มองประชาชนในชาติเป็นผู้ถูกปกปกครอง โดยใช้บทลงโทษที่รุนแรง สิ่งเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกได้แลเห็นแล้ว ยังเป็นสัญญาณที่ถูกส่งมายังผู้คนที่เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย ให้ฮึกเหิม และเชื่อมั่นในแนวทางสุดโต่ง นิยมใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับผู้เห็นต่างให้มากขึ้นอย่างแน่นอน